ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ให้คำมั่นเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายเนรเทศ หรือส่งผู้ตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไปดำเนินคดีในจีน ท่ามกลางเหตุวุ่นวายจากการประท้วงของประชาชนนับล้านคน
นางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ให้คำมั่นเมื่อวันจันทร์จะยังคงเดินหน้าผลักดันแก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อเปิดทางให้มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ หนึ่งวันหลังการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ตั้งแต่อังกฤษมอบคืนสู่การปกครองของจีนในปี 2540 โดยนางแลมกล่าวต่อสื่อมวลชนด้วยสีหน้าเศร้า ๆ มีประธานด้านความมั่นคงและรัฐมนตรียุติธรรมยืนขนาบข้างว่า เธอไม่คิดว่า มันเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมสำหรับฮ่องกงในขณะนี้ ที่จะถอนร่างกฎหมายเนรเทศฉบับนี้ เพราะวัตถุประสงค์ในกฎหมายมีความสำคัญมากที่ต้องทำให้สำเร็จ จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเลื่อนการพิจารณาออกไป ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสาเหตุให้เกิดความวิตกกังวลและเกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้น
ส่วนตำรวจปราบจลาจล ปิดล้อมสภานิติบัญญัติของฮ่องกง และยังปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนที่ยังปักหลักประท้วงอยู่ใกล้อาคารเมื่อเช้าวันจันทร์ หลังการเดินขบวนประท้วงอย่างสงบ ซึ่งผู้จัดระบุว่า มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 1 ใน 7 ของประชากรในฮ่องกง

การประท้วงใหญ่ ฉุดฮ่องกงเข้าสู่วิกฤตการเมือง ไม่ได้แตกต่างจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ในปี 2557 เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลของนางแลม และกลุ่มผู้สนับสนุนเธอในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีเสียงตะโกนไปทั่วถนนสายต่าง ๆ ทั่วเมืองเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่ง และยังมีแผ่นป้ายเขียนด้วยข้อความว่า “เนรเทศตัวเธอเองเลย แคร์รี”
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับนี้ ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางจากประชาชนทุกสาขา อาชีพ ไล่ไปตั้งแต่นักธุรกิจที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย, นักกฎหมาย ไปจนถึงนักศึกษา, แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยและกลุ่มศาสนา ต่างกลัวกันว่า กฎหมายปกครองตนเองของฮ่องกง จะถูกกัดกร่อนมากยิ่งขึ้น และยังเป็นเรื่องยากมากที่จะรับประกันได้ว่า จะได้รับการปกป้องตามกระบวนการยุติธรรมพื้นฐานในจีนแผ่นดินใหญ่
ขณะที่ มอร์แกน ออร์เตกัส โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า สหรัฐมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแก้กฎหมายฉบับนี้ และเตือนว่า การทำลายกรอบ “หนึ่งประเทศ 2 ระบบ” ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานะเขตปกครองพิเศษของฮ่องกงที่ใช้มายาวนานในเวทีระหว่างประเทศ ตกอยู่ในความเสี่ยง