สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงประกาศแจ้งเตือนคนไทย ขณะนี้มีการชุมนุมประท้วงการปรับแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เสนอโดยรัฐบาลฮ่องกง อาจเกิดความรุนแรง ขอให้หลีกเลี่ยงบริเวณชุมนุม
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง โพสต์ข้อความมระบุว่า ประกาศแจ้งเตือนคนไทยในฮ่องกง ขณะนี้มีการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง โดยมีผู้เข้าร่วมประท้วงประมาณ 500,000 คน (ตัวเลขประเมินโดยผู้จัดการประท้วง) ส่งผลให้การสัญจรทุกประเภท ทั้งทางรถยนต์และรถไฟใต้ดิน (MTR) มีความหนาแน่นสูง จนถึงเป็นอัมพาต โดยเฉพาะในย่าน Admiralty / Central / Wan Chai / Causeway Bay / และจิมซาจุ่ย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การชุมนุมประท้วงจะยืดเยื้อต่อไปจนถึงกลางดึก รวมทั้งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้
ในการนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ขอให้คนไทยในฮ่องกงพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านไปในบริเวณที่ชุมนุมประท้วงและบริเวณใกล้เคียงข้างต้น นอกจากนี้ ขอให้นักท่องเที่ยวโปรดเผื่อเวลาในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงสนามบินด้วย
Update สถานการณ์ชุมนุมประท้วงเพิ่มเติม ในเวลา 22.00 น. ผู้จัดการชุมนุมประท้วงประเมินตัวเลขผู้เข้าร่วมการชุมนุมล่าสุดอยู่ที่ 1.03 ล้านคน ในขณะที่ตำรวจฮ่องกงขยับตัวเลขประเมินผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงขึ้นมาที่ 240,000 คน
การชุมนุมประท้วงใหญ่ในฮ่องกง วันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย. 2562 ทำไมคนฮ่องกงถึงต้องประท้วง แล้วเขาประท้วงอะไรกันในวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย. 2562 มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง โดยผู้จัดการชุมนุมประท้วงประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงถึง 1.03 ล้านคน (ในขณะที่ตำรวจฮ่องกงประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ 240,000 คน)
โดยการชุมนุมครั้งนี้ เพื่อประท้วง “การปรับแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง” ที่เสนอโดยรัฐบาลฮ่องกง ซึ่งแต่เดิมนั้น ฮ่องกงจะสามารถส่งผู้ร้ายหลบหนีต่างชาติกลับไปยังเขตอำนาจศาลของประเทศนั้นๆ ได้ก็ต่อเมื่อมีความตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่ฮ่องกงนั้นไม่สามารถทำความตกลงในเรื่องดังกล่าวกับจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และเขตบริหารพิเศษมาเก๊าได้เนื่องจากช่องโหว่ทางกฎหมาย ดังนั้นแล้ว รัฐบาลฮ่องกงจึงได้เสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ฮ่องกงสามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ประเทศหรือเขตอำนาจศาลที่ไม่ได้ทำความตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันได้ ซึ่งรวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ โดยฮ่องกงจะใช้วิธีพิจารณาเป็นกรณี และมีเงื่อนไขหลายอย่างที่การยื่นขอรับผู้ร้ายข้ามแดนกลับในแต่ละกรณีจะต้องเข้าข่ายตามที่ฮ่องกงกำหนด
แล้วทำไมคนฮ่องกงถึงต้องประท้วง เนื่องจากการปรับแก้กฎหมายดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจกลายเป็นการเปิดประตูให้รัฐบาลจีน ใช้ช่องนี้ในการจัดการกลุ่มเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจีนที่หลบหนีและพักอาศัยในฮ่องกง อย่างไรก็ดี นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Chief Executive of Hong Kong Special Administrative Region) มองว่าการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้จะช่วยปิดช่องว่างทางกฎหมายและส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่ปลอดจากอาชญากรข้ามชาติ