สธ.เผยไทยป่วยตายจากบุหรี่ปีละแสนราย

2019-05-27 14:30:22

สธ.เผยไทยป่วยตายจากบุหรี่ปีละแสนราย

Advertisement

สธ.เผยคนไทยป่วย เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุจากควันบุหรี่ ปีละกว่าแสนราย จับมือภาคีเครือข่าย รณรงค์ “บุหรี่ เผาปอด” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. บุหรี่มีผลต่อสุขภาพปอดผู้สูบและคนรอบข้าง โดยเฉพาะควันบุหรี่มือสองและมือสาม เร่งกระตุ้นสร้างสิ่งแวดล้อม บ้าน ชุมชน ปลอดควันบุหรี่ “อาตง-ผปก.นิว18”พรีเซ็นเตอร์วันงดสูบบุหรี่โลก 31 มี.ค.2562


เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และ นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงข่าวการจัดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2562 ซึ่งองค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพ

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปี 2562 เป็นปีแรกที่ประเทศสมาชิก ให้ความสำคัญถึงประเด็นผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพปอด จัดกิจกรรมภายใต้คำขวัญ “บุหรี่ เผาปอด” (Tobacco and lung health) ให้ผู้เสพ ผู้ติด เลิกบุหรี่และยาสูบ รวมทั้งกระตุ้นชุมชนร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมปลอด บุหรี่ เป็นเกราะป้องกันดูแลสุขภาพให้ตนเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่มือสองและมือสาม โดยในประเทศไทย พบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ในปี 2560 พบมากกว่า 100,000 ราย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ มีภาคีเครือข่ายร่วมมือกันดำเนินงานทุกมิติ ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย ล่าสุดได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้สถานที่สาธารณะ ยานพาหนะ และที่ทำงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ รวมแล้วมากกว่า 100 สถานที่ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะ วัด ตลาด ป้ายรถเมล์ เพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่


รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้รณรงค์สร้างความตระหนัก ให้ความรู้ ป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ อาทิ ห้ามจำหน่าย บุหรี่ให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามแบ่งจำหน่ายบุหรี่มวน ห้ามการใช้สีสัน ลวดลาย เครื่องหมายการค้า หรือลูกเล่นที่สวยงามบนซองบุหรี่ มาตรการนี้จะช่วยลดแรงจูงใจในการสูบบุหรี่ของสิงห์อมควัน ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ และโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้ องค์ราชัน ที่ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ชวนประชาชนในพื้นที่อย่างน้อย 3 คน ลด ละ เลิกบุหรี่ตามวิถีชุมชน และยังมีบริการช่วยเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวง สาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานคร ในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ และสายด่วนเลิกบุหรี่ (Quitline 1600) หรือ แอพพลิเคชัน “ไทยไร้ควัน” เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นสังคม และสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพปอดของผู้สูบและทุกคนที่สัมผัส รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม หากเริ่มหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปเพียงครั้งเดียว สารพิษหลายร้อยชนิดจะเริ่มทำลายปอด ทำให้หายใจระคายเคือง ไอ หายใจไม่สะดวก ติดเชื้อหรือมีอาการแทรกซ้อน โดย 4 โรคร้ายที่เกิดจากบุหรี่ทำลายปอด ได้แก่ มะเร็งปอดถุงลมโป่งพอง วัณโรค และโรคภูมิแพ้ ซึ่ง 5 อันดับแรกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ และวัณโรค ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ปอดเป็นอวัยวะที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุด เพราะทางเดินหายใจและปอดเป็นด่านแรกของร่างกายที่สัมผัสสารพิษจากควันบุหรี่ทำให้ปอดได้รับอันตรายมากที่สุด และเกิดโรคมากที่สุด โดยครึ่งนึงของคนที่ป่วยและตายจากการสูบบุหรี่มีสาเหตุมาจากโรคทางเดินหายใจและปอด ซึ่งจากข้อมูลปี พ.ศ. 2560 วิเคราะห์โดยภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่คือ มะเร็งปอด 13,727 คน ถุงลมโป่งพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมเท่ากับ 35,412 คน ซึ่งหากรวมจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน ที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคปอดแล้ว จะรวมเป็นคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 4 หมื่นคน

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า นอกจากบุหรี่จะทำคนไทยเสียชีวิตปีละหลายหมื่นคนแล้ว ยังก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งจากค่ารักษาพยาบาลปีละ 77,626 ล้านบาท ความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ 11,762 ล้านบาท และความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท (หรือเฉลี่ย 20,565 บาทต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากภาษีบุหรี่แล้วต่างกันถึง 3.2 เท่า

นพ.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่น่าเศร้าใจที่คนไทยมากกว่า 70,000 คนต่อปีต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอดและมะเร็งอื่นๆ วัณโรค ปอดบวม และโรคหัวใจ การสูญเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสหประชาชาติทุกหน่วยงานในประเทศไทยขอชื่นชมนโยบายที่เข้มแข็งของรัฐบาลไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อเร่งรัดการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพต่าง ๆ ในอันที่จะหยุดการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท”ทั้งนี้ เชิญชวนผู้สนใจร่วมงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2562 ในวันศุกร์ที่ 31 พ.ค.2562 ณ บริเวณลานโปรโมชั่น 2 และ 3 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ เขตลาดพร้าว กทม. ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป ภายในงานมีพิธีมอบรางวัล World No Tobacco Day Award 2019 และโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมทั้งมีการให้บริการทางการแพทย์ จัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ และกิจกรรมสอดแทรกความรู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับพรีเซ็นเตอร์วันงดสูบบุหรี่โลก 31 มี.ค.2562 คือ “แชมป์” ชนาธิป โพธิ์ทองคำ หรือ อาตง จากละครกรงกรรม และ “แชมป์”ศรัณภัสร์ ตั้งไพศาลธนกุล ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ NEW 18