เปิดประวัติ “ชวน-สุชาติ-ศุภชัย” ว่าที่ประธาน-รองประธานสภาฯ

2019-05-25 02:00:52

เปิดประวัติ “ชวน-สุชาติ-ศุภชัย” ว่าที่ประธาน-รองประธานสภาฯ

Advertisement

เปิดประวัติ “ชวน หลีกภัย”ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร “สุชาติ ตันเจริญ-ศุภชัย โพธิ์สุ” รองประธานสภาฯ

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 09.30 น. วันนี้จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ที่หอประชุมทีโอที เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีมติเสนอชื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้ง 115 เสียง จะยกมือสนับสนุน โดยจะเสนอให้ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ส่วนรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นโควตาของพรรคภูมิใจไทย (ภท.)คาดว่าจะส่งนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ดำรงตำแหน่ง


สำหรับประวติ นายชวน หลีกภัย ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร จาก ปชป.

เกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2481 ที่ ต.ท้ายพรุ อ.เมือง จ.ตรัง

ประวัติการศึกษา

• ประถมศึกษา โรงเรียนวัดควนวิเศษ จังหวัดตรัง

• มัธยมศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ และโรงเรียนตรังวิทยา

• สำเร็จการศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป์ ในปัจจุบัน)

• พ.ศ. 2505 นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• พ.ศ. 2507 เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษาทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 17

ประวัติทางการเมือง

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยแรก) พ.ศ. 2512

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สอง) พ.ศ. 2518

• รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2518

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สาม) พ.ศ. 2519

• รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2519

• รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2519[3][4]

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สี่) พ.ศ. 2522

• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2523[5]

• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2524

• รัฐมนตรว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2525 - 2526

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ห้า) พ.ศ. 2526

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่หก) พ.ศ. 2529

• ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529 - 2531

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เจ็ด) พ.ศ. 2531

• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2531 - 2532

• รองนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2532 - 26 ส.ค. 2533

• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2533 (ส.ค.- ธ.ค. พ.ศ. 2533)

• หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (26 ม.ค.2534 - 4 พ.ค. พ.ศ. 2546)

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่แปด) พ.ศ. 2535 (22 มี.ค. พ.ศ. 2535)

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เก้า) พ.ศ. 2535 (13 ก.ย. พ.ศ. 2535)

• นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2535 (23 ก.ย. พ.ศ. 2535 - 20 ก.ค. พ.ศ. 2538)

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบ) พ.ศ. 2538 (2 ก.ค. พ.ศ. 2538)

• ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2538 (4 ส.ค. พ.ศ. 2538)

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบเอ็ด) พ.ศ. 2539 (17 พ.ย. พ.ศ. 2539)

• ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539 (21 ธ.ค. พ.ศ. 2539)

• นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2540 (9 พ.ย. พ.ศ. 2540 - 8 ก.พ. พ.ศ. 2544)

• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2540 (14 พ.ย. พ.ศ. 2540-18 ก.พ. พ.ศ. 2544)

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบสอง) พ.ศ. 2544 (6 ม.ค. พ.ศ. 2544)

• ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 (11 มี.ค. พ.ศ. 2544)

• ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน)


ประวัติ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จาก พปชร.

เกิดเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2501 

ประวัติการศึกษา

จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร สำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ จาก Notre Dame de Namur University ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายสุชาติ เป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา 8 สมัย เคยสังกัดพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสามัคคีธรรม พรรคไท พรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2538 เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2548

นายสุชาติ เคยลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคไท ในปี 2539 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรค นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคการเมืองถึง 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคไทยรักไทย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 จึงได้นำสมาชิกในกลุ่มบ้านริมน้ำ ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน และในปี พ.ศ. 2553 ได้ย้ายไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย จากนั้นในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 นายสุชาติได้นำสมาชิกในกลุ่มบ้านริมน้ำของตนเองกว่า 40 คนมาสมัครสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ




ประวัติ นายศุภชัย โพธิ์สุ ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 จาก ภท.

นายศุภชัย มีชื่อเล่นว่า "แก้ว" หรือ ครูแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2501 ที่ จ. นครพนม 

ประวัติการศึกษา 

สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพครู จากวิทยาลัยครูสกลนคร ระดับปริญญาตรีสาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 นายศุภชัยได้หลบหนีไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ป่าภูพาน มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายแสง" รับหน้าที่ปลุกระดมมวลชนแถบอำเภอเรณูนคร และอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เมื่อออกจากป่าได้เข้าเรียนต่อครูจนจบ และรับราชการครูที่อำเภอศรีสงคราม ก่อนจะลาออกมาทำงานการเมืองจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นมาจากการที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) มาก่อน

นายศุภชัย เป็นแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ให้การสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นสภาพไปเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551

นายศุภชัย  ได้รับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ภายหลังจากที่พรรคภูมิใจไทยมีมติให้นายชาติชาย พุคยาภรณ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้นายศุภชัย ดำรงตำแหน่งแทน แต่ผลงานการทำงานของนายศุภชัย กลับไม่ได้มีความโดดเด่นเท่าที่ควร จนเป็นที่มาของการได้รับฉายาจากพรรคเพื่อไทย เป็น 1 ใน 10 รัฐมนตรีไร้ผลงาน ว่า "รัฐมนตรีได้ครับพี่ ดีครับท่าน ทันครับผม เหมาะสมครับนาย" และในปี พ.ศ. 2553 สำนักวิจัยเอแบคโพล ได้สำรวจความคิดเห็นพบว่าประชาชนร้อยละ 36.9 ไม่รู้จักรัฐมนตรีศุภชัย โพธิ์สุ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 นายศุภชัยลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครพนม แต่แพ้ให้กับนายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ จากพรรคเพื่อไทย

ขอบคุณข้อมูลวิกิพีเดีย