บันทึกเอาไว้ว่า วันที่ 13 ก.ค. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธิพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.....ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ฉบับของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่จะมะรุมมะตุ้มกันในห้วงเวลา 240 วัน
กล่าวกันว่าร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่น่าจะไล่ล่าคนโกงที่ทรงอิทธิพลและมีหลากหลายลีลาเล่ห์เหลี่ยมอย่างได้ผล และให้ความเป็นธรรมกับพวกหนีคดีไปพร้อมๆ กัน
สาระสำคัญๆ ก็อย่างที่เป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งผมจะสรุปสั้นๆ ณ ตรงนี้อีกครั้ง
มาตรา 26 แม้ไม่สามารถนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลได้ ก็ให้ศาลประทับรับฟ้องได้ แต่นั่นหมายความว่าทางโจทก์ได้ใช้ความพยายามตามหาตัวแล้ว ขออนุมัติศาลออกหมายจับแล้ว
มาตรา 27 เมื่อศาลประทับรับฟ้องตามมาตรา 26 แล้ว ให้ศาลออกหมายเรียกและหมายจับ ถ้าภายใน 3 เดือนจับผู้ถูกกกล่าวหาไม่ได้ก็ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังผู้ถูกกล่าวหาได้ แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่ผู้ถูกกล่าวหาแต่งตั้งทนายต่อสู้คดี
นั่นคือประเด็นแม้ไม่มีตัวผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถประทับรับฟ้องได้และพิจารณาลับหลังได้
ประเด็นหรือมาตราที่เป็นที่ถกถียงและตีความมองไปคนละมุมสองมุมคือ มาตรา 24/1 ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้
มาตรา 24/1 ในการดำเนินดคีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง
ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินดคีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ
ครับ มาตรา 24/1 นี้ว่าด้วย “อายุความ” ซึ่งวรรคแรก วรรคสองนั้นไม่เป็นปัญหา..จำเลยคนไหนที่หลบหนีไปก็เชิญหลบหนีแต่ไม่นับเวลาที่หนีเป็นอายุความ ถ้าจะหลบหนีให้พ้นโทษก็ต้องหลบหนีตลอดชีวิต ...แต่ที่เป็นที่ถกเถียงคือวรรคสามกรณีคดีที่คำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว เช่นคดีที่ดินรัชดาของทักษิณ ชินวัตร, คดีคลองด่าน ของนายวัฒนา อัศวเหม เป็นต้น วรรคสามได้เชื่อมโยงไปถึงมาตรา 98 แห่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 ว่าไม่ให้นำมาใช้บังคับ...ไปดูมาตรา 98 ที่ว่า
มาตรา 98 เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีแล้วแต่กรณีเกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้
(1)ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี
(2)สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ไม่ถึงยี่สิบปี
(3)สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4)ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น”
หลายคนอ่านมาตรา 24/1 วรรคสามของ พ.ร.ป.แล้วมาอ่านมาตรา 98 ของประมวลกฎหมายอาญา แล้วยกกรณีคดีที่ดินรัชดาที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดสั่งจำคุก 2 ปีขึ้นมาตั้งคำถามว่าถ้านายทักษิณหนีคดีเกิน 10 ปีตาม (3) ทักษิณจะถูกลงโทษหรือไม่ หลายคนบอกว่าต้องโดนเมื่อ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับแล้ว และมาตรา 24/1 วรรคสามบัญญัติไว้ชัดเจนว่าห้ามใช้มาตรา 98 กฎหมายอาญามาใช้บังคับ..
แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธ์ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ให้สัมภาษณ์ออกมาเหมือนกันว่ากรณีคดีที่พิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ไม่มีผล ไม่ถูกลงโทษ เพราะหลบหนีจนเกินอายุความไปแล้ว ไม่มีผลย้อนหลัง...
กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บางท่านก็บอกผมว่า ไม่น่าจะมีผลย้อนหลัง เพราะเจตนารมย์มาตรา 24/1 ระบุหมายถึงคดีที่ดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.ฉบับนี้เท่านั้น..
แต่ก็อีกนั่นแหละอีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าต้องอ่านบทฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.นี้คือมาตรา 67 ด้วย
มาตรา 67 บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
อ่านมาตรา 67 ช้าๆ แล้ว..ผมน่ะมีความเห็นโน้มเอียงไปในทิศทางที่ว่า พ.ร.ป.ฉบับนี้ต้องการให้บังคับใช้กับทุกคดีที่ยังไม่ขาดหรือหมดอายุความ
ขออนุญาตยกตัวอย่างกรณีนายทักษิณอีกครั้ง ตามกฎหมายนี้ชัดเจน 4 คดีที่จำหน่ายคดีไปชั่วคราว คือคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้, คดีหวยบนดิน, คดีเอ็กซิมแบงก์และคดีแปลงสัญญาโทรคมนาคม พ.ร.ป.นี้เปิดทางโล่งให้ขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ แต่กรณีที่ดินรัชดาจะหมดอายุความ 10 ส.ค. 2561 (หนีครบ 10 ปี) คือ ประเด็นที่ผมกำลังบอกว่าหลายฝ่ายมองต่างมุมฝ่ายหนึ่งบอกว่าถ้าหนีครบ 10 ปีหมดอายุความลงโทษเขาไม่ได้ แต่อีกฝ่ายบอกว่าต้องโดนลงโทษเพราะ พ.ร.ป.นี้บังคับใช้ ไม่มีหมดอายุความ
ทั้งหลายทั้งปวงนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ก็พูดเปิดทางเอาไว้แล้วว่าหากใครยังติดใจ คาใจก็ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้..
น่าเชื่อว่า พ.ร.ป.ฉบับนี้แม้ระดับ ”บิ๊กเนม” หัวแถวของพรรคเพื่อไทยจะดาหน้าออกมาแถลงต้าน แต่ก็ดูเหมือนจะไร้เสียงขานรับจากสังคมโดยส่วนรวม คงไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมอะไรอีก คงปล่อยให้เมื่อมีกรณีขัดแย้งเห็นต่างในวันข้างหน้าเกิดขึ้น ก็คงมีการยื่นวินิจฉัยตีความทั้งประเด็นที่ผมว่ามา และประเด็นอื่นๆ ที่ผมไม่ได้กล่าวถึงณ ทีนี้.