“บวรศักดิ์”แนะ ส.ส.ใหม่แก้ไขความทุกข์ร้อน ปชช.

2019-05-15 11:25:15

“บวรศักดิ์”แนะ ส.ส.ใหม่แก้ไขความทุกข์ร้อน ปชช.

Advertisement

“บวรศักดิ์” บรรยายบทบาทหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญในงานสัมมนา พปชร. แนะทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อน เตือนศึกษารัฐธรรมนูญ ม. 114 ให้ชัดเจน หากทำไม่รอบคอบ ครม.อาจต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ โรงแรมเดอะซายน์ พัทยา จ.ชลบุรี ก่อนเริ่มการสัมมนาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วันที่ 2 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และแกนนำพรรค ส.ส.ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ ถ่ายรูปหมู่รวมกัน ก่อนจะเริ่มการสัมมนา ในหัวข้อพิเศษ “บทบาทและหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ


นายบวรศักดิ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้มาทำหน้าที่ ส.ส. ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญปี2560 พร้อมระบุสาเหตุที่ตัดสินใจมาบรรยายพิเศษ เนื่องจากได้รับการทาบทามจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค รวมถึงคนคุ้นเคยอีกหลายคนในพรรคที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน


นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ ส.ส.ทุกคนทราบดี ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร หน้าที่อันดับแรก คือการทำหน้าผู้แทนของประชาชน เพราะทุกคนเป็นตัวแทนของเสียงที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ที่มาระบอบประชาธิปไตย โดยกล่าวอ้างคำนักวิชาการระดับโลก อมาตยา เซน ที่ศึกษาว่า ความอดอยากเกิดขึ้นได้ทุกระบอบการบริหารการปกครอง แต่การอดตายจะเกิดขึ้นในระบอบเผด็จการ


นายบวรศักดิ์ ย้ำว่า ในระบอบประชาธิปไตย อดอยากได้แต่จะไม่อดตาย เพราะผู้ที่มีหน้าที่ในบ้านเมือง ต้องทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อน หน้าที่อันดับ 2 คือการออกกฎหมาย หน้าที่ที่ 3 ของ ส.ส. คือการอนุมัติการงบประมาณในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังมากที่สุด ขอให้ทุกคนได้ไปศึกษารัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ให้ชัดเจน เพราะหากทำไม่รอบคอบ ครม.อาจต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรานี้จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต ต้องคืนเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ยย้อนหลังด้วย


ผู้สี่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 114 บัญญัติไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์