โรคแพ้เหงื่อตัวเอง เป็นอาการที่ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเรียกตัวเอง เนื่องจากมักมีอาการคันที่ผิวหนังหรือมีผดผื่นแดงนูนเกิดขึ้นเมื่อมีเหงื่อออก อาการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย การทำงานกลางแจ้งในขณะที่มีอากาศร้อน
สาเหตุของโรคแพ้เหงื่อตัวเองหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น พันธุกรรมเนื่องจากพบในครอบครัวเดียวกันและมักพบอาการแพ้ในระบบอื่น ๆ เช่น ภูมิแพ้ที่จมูก หอบหืดร่วมด้วย เป็นต้น นอกจากนี้มักพบปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดผิวแห้ง ระคายเคือง จากการใช้สบู่ที่แรงหรือใช้ปริมาณมากเกินไป การอาบน้ำอุ่นจัด อาบน้ำบ่อยเกินไป สามารถทำให้โรคกำเริบได้
ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค สังเกตอาการ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น และทราบวิธีการดูแลตนเอง เช่น เมื่อมีเหงื่อออกควรใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดเบา ๆ เพื่อเอาเหงื่อออกจากผิวหรืออาบน้ำ ถ้ามีเหงื่อออกทั่วตัว ควรเลือกใช้สบู่อ่อน ๆ และหลีกเลี่ยงสบู่ที่เป็นด่าง หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัดและแนะนําให้ใช้น้ำที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงสบู่หรือน้ำยาทําความสะอาดที่มีส่วนผสมของสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (anti-septic) เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ควรทาโลชั่นบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื่นกับผิวหนังภายใน 5 นาทีหลังจากการอาบน้ำเสร็จ ภายหลังการเช็ดตัวหมาด ๆ เพื่อให้โลชั่นซึมลงสู่ผิวได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนจัดเป็นระยะเวลานาน หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบที่อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้ เช่น ผ้าขนสัตว์ เป็นต้น ผ้าที่เหมาะสม คือ ผ้าฝ้าย หรือใส่เสื้อผ้าโปร่งบางที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการเกา ถู บริเวณผื่นหรือการสัมผัสต่อสารที่ระคายเคืองหรือ แพ้
แนวทางการรักษา ได้แก่ การทายาสเตียรอยด์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการกําเริบของผดผื่น โดย แนะนําให้ผู้ป่วยทายาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อนหรือปานกลางวันละ 2 ครั้งเมื่อควบคุมอาการได้ควรลดการใช้ยาลงหรือ หยุดยาอาจใช้ยาทาเป็นช่วง ๆ และควรใช้ยาทาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุดที่สามารถควบคุมโรคได้ แต่หากมีผื่นนูนแดงชนิดลมพิษ ควรใช้ยาต้านฮีสตามีนชนิดรับประทาน (anti-histamine) หรือยาแก้แพ้ร่วมด้วย ผลข้างเคียงหรืออันตรายจากการใช้ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์ที่แรงและนานเกินไป ได้แก่ ผิวหนังบางลง แตกลาย มีขนขึ้นบริเวณที่ทายา เป็นต้น
กรณีที่เป็นรุนแรง ควรส่งต่อให้แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสืบค้นหาปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่อาจมีการประเมินความรุนแรงของโรคและหาทางรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอัลตร้าไวโอเลต เป็นต้น
ผศ. พญ.พลอยทราย รัตนเขมากร
หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล