รายการเดินหน้าประเทศไทย มติ
ครม.ฉบับประชาชน 18 ก.ค. ครม.เห็นชอบแนวทางใหม่ในการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ
ยึดหลักความโปร่งใส ปิดทางข้าราชการการเมืองดำรงตำแหน่ง
วันที่ 18 ก.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
รายการเดินหน้าประเทศไทย ดำเนินรายการโดย น.ส.ศตกมล
วรกุล และ รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร 2 ผู้ดำเนินรายการ “ล้อปมข่าว”
ทางสถานีโทรทัศน์นิว18 ได้ทำหน้าที่รายงานมติ ครม.ฉบับประชาชน ว่า ครม.ได้อนุมัติในหลายเรื่อง โดยก่อนการประชุม ครม.วันนี้ พล.อ.สุรศักดิ์
กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะมาพบ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน
ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวทาง “ประชารัฐร่วมใจ
แยกทิ้งขยะอันตราย” ซึ่งนายกรัฐมนตรีแนะนำให้เพิ่มช่องตู้เก็บรวบรวมของเสียอันตราย และให้เพิ่มขนาดให้ใหญ่มากขึ้น
พร้อมเน้นย้ำรณรงค์การสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือในการแยกทิ้งขยะทั่วประเทศ
สำหรับมติ ครม.มีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง
อาทิ ยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
พ.ศ. 2560 – 2564, ครม.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)เสนอแนวทางการแต่งตั้งกรรมการ(บอร์ด)รัฐวิสาหกิจ
ยึดหลักความโปร่งใส เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้วยการนำหลักเกณฑ์และความรู้ที่จำเป็น
(Skill Matrix) มาประกอบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ตรงกับความต้องการและประเภทของแต่ละรัฐวิสาหกิจ
สำหรับการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจให้ผู้มีอำนาจพิจารณาเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า
1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่นของรัฐวิสาหกิจนั้น และห้ามไม่ให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุด
หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอื่น
เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ไม่ให้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
(สนช.) ข้าราชการการเมือง
และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่ม
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแก้ไขปัญหาปลาหมอสีคางดำซึ่งระบาดใน จ.สมุทรสาคร ตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งร้องเรียนว่ากุ้งที่เลี้ยงไว้ถูกปลาหมอสีคางดำกินจนได้รับความเสียหาย สำหรับปลาดังกล่าวเข้ามาจากช่องว่างทางกฎหมายที่มีคนนำเข้ามาเลี้ยงและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของเกษตรกรดันน้ำเข้าบ่อด้วยการใช้ถุงกรอง,การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
และการพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจต่อไป