จิตแพทย์ห่วงคนทำงาน 50 ชม.ต่อสัปดาห์เสี่ยงเครียด

2019-05-01 16:55:57

จิตแพทย์ห่วงคนทำงาน 50 ชม.ต่อสัปดาห์เสี่ยงเครียด

Advertisement

จิตแพทย์ห่วงคนวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดความเครียดได้ง่าย ชี้หากปล่อยสะสมจะเป็นนางกวักเรียกโรคทางกายเพิ่ม อาทิเบาหวาน มะเร็ง แนะหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน 3 ด้าน ทั้งทางกาย จิตใจ พฤติกรรม อาทิ เจ็บป่วยบ่อยโดยไม่รู้สาเหตุ เช่นปวดศีรษะ ปวดท้อง หงุดหงิด โมโหง่าย จู้จี้ขี้บ่น หากพบว่ามีให้ใช้ 3 วิธีง่ายๆ แก้ไข โดยเฉพาะการหายใจคลายเครียด จะให้ผลดีมาก ควรฝึกให้เป็นอัตโนมัติ

​​นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่าวันที่ 1 พ.ค. เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในเดือนมี.ค.2562 ทั่วประเทศมีผู้ที่มีงานทำ 37.7 ล้านคน ประมาณร้อยละ 70 ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม นับเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดความเครียดได้สูงกว่าวัยอื่น เนื่องจากหน้าที่ความรับผิดชอบครอบครัว การงาน และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่น่าห่วงคือผู้ที่ใช้เวลาทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งจากผลสำรวจครั้งนี้พบว่ามีมากถึง 7 ล้านกว่าคน เป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดความเครียดได้ง่าย อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพการทำงานและสุขภาพ หากไม่รู้วิธีจัดการความเครียดที่ถูกต้อง


​นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ความเครียดเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งภายนอกภายใน ในแง่ดีคือทำให้มีร่างกายตื่นตัว ตอบสนองต่อสิ่งคุกคามหรือแก้ไขปัญหาต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน กล่าวคือร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่าคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ร่างกายตื่นตัว กระฉับกระเฉง และแก้ไขปัญหาต่างๆไปได้ แต่หากความเครียดนั้นเป็นอยู่ระยะยาวนานสะสมจะกลายเป็นภัยเงียบ มีโอกาสที่โรคอื่นๆทางกายเกิดตามมาที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น เนื่องจากเนื่องจากฮอร์โมนตัวนี้จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลา ทำให้ระบบการทำงานและอวัยวะต่างๆของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ควรมองข้ามความเครียด และขอให้หมั่นสังเกตอาการเครียดของตนเองและผู้ร่วมงาน เพื่อสามารถจัดการได้อย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยให้เกิดการสะสมในจิตใจ


“สัญญาณเตือน 3 ด้านที่บ่งบอกว่ากำลังมีความเครียด มีดังนี้ 1.ด้านร่างกาย มักเจ็บป่วยบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีเรี่ยวแรง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้องอืด ปวดหลัง ฯลฯ 2.ด้านจิตใจ จะเคร่งเครียด ขาดสมาธิ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน เหม่อลอย เบื่อหน่าย เศร้าหมอง เป็นต้น และ 3.ด้านพฤติกรรม จะจู้จี้ขี้บ่น เก็บตัว สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรามากขึ้น อาจใช้ยากระตุ้น เช่น ยานอนหลับหรือสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น” นพ.กิตต์กวี กล่าว


นพ.กิตต์กวี กล่าวต่อว่า หากพบว่าตนเองหรือผู้ร่วมงานมีอาการที่กล่าวมา ขอให้ขจัดความเครียดรายวันให้หมดไป ด้วยวิธีง่ายๆ 3 ประการดังนี้ 1. ให้ปรับความคิด โดยการคิดบวกต่อตัวเองและต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในแต่ละวันย่อมมีเรื่องให้แก้ไขและเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างมีสติและอยู่กับปัจจุบัน 2. ให้ร่วมกันคิดหาทางออก ทำได้ทั้งระดับครอบครัว คือรับฟังทุกข์สุขของกันและกัน ร่วมกันแก้ปัญหาช่วยเหลือกันทุกโอกาสที่ทำได้ ส่วนระดับที่ทำงาน ให้ผู้ร่วมงานหันหน้าปรึกษาหารือกัน ช่วยเหลือกัน เป็นกำลังใจให้กันและกัน อย่างน้อยการได้ระบายได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ความเครียดต่างๆ ก็จะบรรเทาลง สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งแล้ว

3. การฝึกลดความตึงเครียดจิตใจ โดยการพักผ่อน การออกกำลังกาย ฟังเพลง ทำงานศิลปะ ทำกิจกรรมในสิ่งที่ตนเอนเองชอบจะทำให้เราได้ผ่อนคลาย ใจเย็น รวมถึงการฝึกการหายใจคลายเครียดด้วยกล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่บริเวณหน้าท้อง โดยสูดหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ กลั้นไว้สักครู่แล้วจึงผ่อนหายใจออก หน้าท้องจะแฟบลง ทำซ้ำๆใช้เวลาเพียง 5-10 นาที การหายใจแบบนี้ จะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้สมองแจ่มใส ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ร่างกายกระปรี้กระเปร่าตลอดวัน วิธีการนี้แนะนำให้ฝึกใช้ซ้ำๆเป็นประจำทุกวัน ต่อไปก็จะสามารถทำได้โดยอัตโนมัติเมื่อเจอเหตุการณ์เครียด จะให้ผลดีมาก ทำให้เราใจเย็นลง สุขุมขึ้น อย่างไรก็ตามสามารปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้โดยโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง