ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้ยุตินำเข้า “พาราควอต”

2019-04-25 15:25:09

ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้ยุตินำเข้า “พาราควอต”

Advertisement

ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้ยุติการนำเข้าสารเคมี “พาราควอต” อันตรายถึงชีวิต ชี้หน่วยงานรัฐต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน เชิญนายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย และ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข อดีตโฆษกกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินในการยกเลิกสารเคมี “พาราควอต” พร้อมเดินหน้าเคลียร์ผลพวงสารพิษหวั่นส่งผลกระทบลูกโซ่ ใช้คนเดียวตายหมู่ ยันหน่วยงานรัฐต้องเห็นแก่สุขภาพของประชาชนเป็นหลัก


นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการอนุญาตใช้สารเคมีอย่างเสรีโดยยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตที่ใช้ในการเกษตร ทำให้ผู้ใช้ขาดความระมัดระวังหรือการป้องกันการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือก่อเหตุผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีฆ่าหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น การใช้ยาฆ่าหญ้าในการบุกรุกแผ้วถางป่า ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีในพื้นที่เกษตรที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรอินทรีย์ พื้นที่หรือแหล่งน้ำสาธารณะ โดยไม่มีป้ายหรือข้อความเตือนว่าพื้นที่นี้ใช้สารเคมีตัวดังกล่าว ผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียงจึงได้รับผลกระทบต่าง ๆ เช่น เกิดเจ็บป่วยต่อระบบทางเดินหายใจ หญิงตั้งครรภ์ได้รับสารเคมีและถ่ายทอดผ่านรกจากแม่สู่ลูก สัตว์ได้รับพิษจากหญ้าที่ปนเปื้อนสารเคมี หากได้รับสารพิษทางปากทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน เกิดแผลในปาก ลิ้น คอ หลอดลมและช่องท้อง เมื่อมีการดูดซึมจะทำให้เกิดพังผืดที่ปอด ส่งผลต่อภาวะหายใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว และไตวาย การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการและประคับประคอง บางรายเกิดความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน ระบบประสาท และมีความสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่า โรคเนื้อเยื่ออักเสบ


นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินเล็งเห็นความสำคัญยิ่งและดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ได้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ดำเนินการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 และเร่งพัฒนาวิธีทดแทน พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตรายพาราควอตสู่ประชาชนโดยเร็ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 เสนอเรื่องต่อ ครม.ให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 55 เรื่องการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค มาตรา 57 (2) เรื่องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และมาตรา 61 เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ถึงแม้ว่าขณะนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะรายงานถึงข้อขัดข้องที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องด้วยข้อกังวลเรื่องต้นทุนด้านแรงงานหรือด้านอื่นของเกษตรกรอาจสูงขึ้นแต่ผลผลิตอาจลดลง ตลอดจนความคุ้นเคยของเกษตรกร และความสามารถในการป้องกันตนเองจากสารเคมีนั้นแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพความปลอดภัยของประชาชนการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต้องรีบดำเนินการแก้ไข


“วันนี้จึงต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยืนยันข้อเสนอแนะเดิม และได้กำหนดเวลา 60 วัน ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายไปดำเนินการพิจารณาทบทวนการยกเลิกการใช้ให้เป็นผลสำเร็จภายในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ดำเนินการก็ต้องชี้แจงเหตุผลให้เพียงพอ เพื่อที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีให้นำเข้าพิจารณาใน ครม.ต่อไป”นายรักษเกชา กล่าว