กำเนิด “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จากอินเดียสู่ราชสำนักสยาม

2019-04-17 13:00:55

กำเนิด “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จากอินเดียสู่ราชสำนักสยาม

Advertisement

การถือกำเนิดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในประเทศไทยสันนิษฐานว่า รับรูปแบบมาจากพิธีราชสูยะของอินเดีย ซึ่งมีการประกอบพิธี 3 อย่าง คือ การอภิเษกหรืออินทราภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ โดยจะประกอบพิธีขึ้นในพระราชมณเฑียร หรือท้องพระโรง

ในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย พบหลักฐานเบื้องต้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 บริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการอภิเษกเพื่อขึ้นครองราชสมบัติของ “เจ้าชายจิตรเสน” เพื่อปกครองรัฐซึ่งสันนิษฐานว่าคือ อาณาจักรเจนละ ซึ่งมีดินแดนส่วนหนึ่งอยู่ที่ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

การประกอบพระราชพิธีดังกล่าวยังปรากฏหลักฐานสืบเนื่องในอาณาจักรสุโขทัยเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 สมัยพระยาลือไทยราช มีการมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการอภิเษก ได้แก่ มกุฎ หรือพระมหาพิชัยมงกุฎฉัตร และพระแสงขรรค์ชัยศรี




จวบจนสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานถึงขั้นตอนการพระราชพิธีแบบย่นย่อในคำให้การชาวกรุงเก่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 โดยมีรายละเอียดและลำดับของพระราชพิธี ดังนี้

1. เครื่องราชูปโภคที่ใช้ในพระราชพิธี เช่น ตั่งไม้มะเดื่อ พระที่นั่งภัทรบิฐ



2. เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ พัดวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาท

3. การประกอบพระราชพิธี เช่น การเป่าสังข์ การตีกลองอินทเภรี และการประโคมเครื่องดุริยางค์

4. ราชบัลลังก์ปูลาดด้วยหนังพระยาราชสีห์ ซึ่งต่อมาได้ใช้แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณแทน



5. พระสุพรรณบัฏที่จารึกอันมีการประดับกรอบด้วยอัญมณี โดยประดิษฐานอยู่บนพานทอง

6. การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตรา

7. การสมโภชพระนคร

8. เมื่อเสด็จการพระราชพิธีแล้วจะทรงสร้างพระพุทธรูป เงินพดด้วง งดเว้นไม่เก็บส่วยเงินอากร 3 ปี กับทั้งทรงปล่อยนักโทษด้วย



ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 การเสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งนั้น เรียกว่า ปราบดาภิเษก ถือว่า การพระราชพิธียังไม่สมบูรณ์ เมื่อทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง รวบรวมรูปแบบการพระราชพิธี สร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ สำหรับพระนครแล้ว พ.ศ. 2328 จึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนั้น เป็นแบบแผนที่ถือปฏิบัติมาในรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่การสรงมรุธาภิเษก คือ ทรงรับน้ำอภิเษกโดยพระราชครูพราหมณ์ ด้วยเชื่อในคติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพที่อุบัติมาเพื่อขจัดทุกข์เข็ญอาณาประชาราษฎร์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ให้มีความร่มเย็นและทรงบำรุงอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสัมพันธไมตรีกับประเทศยุโรป ทรงรับคติการสวมพระมหาพิชัยมงกุฏในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างราชสำนักยุโรป นอกจากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพระราชพิธีสงฆ์ ดังนั้นน้ำอภิเษกจึงมีทั้งน้ำพระพุทธมนต์และน้ำพระเทพมนต์ และกำหนดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกประจำปี เรียกว่า “วันฉัตรมงคล” ถือปฏิบัติต่อมาในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนการพระราชพิธีบ้าง ตามความเหมาะสมในแต่ละสมัย

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างย่นย่อ ตัดทอนพิธีการหลายประการ คงไว้เฉพาะที่จำเป็น กำหนดการพระราชพิธี 3 วันคือ วันที่ 3-5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 การประกอบพระราชพิธีในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 นี้เอง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่เราชาวไทยได้ยินคุ้นหูมานานเกือบ 70 ปี