สบส. เตือนประชาชนออกมาฉลองสงกรานต์กลางแจ้ง ให้งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ชี้ไม่แก้กระหาย แถมเสี่ยงช็อกดับแทน
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย.ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย ภูมิอากาศโดยรวมทั่วประเทศอยู่ในสภาพร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน บางแห่งอาจจะมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินระดับอุณหภูมิปกติของร่างกาย จึงอาจเกิดการเจ็บป่วยจากการสูญเสียน้ำได้ จึงควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำผลไม้แทน และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ หรือบรั่นดี ฯลฯ ด้วยหลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถดับกระหายและทดแทนน้ำที่สูญเสียได้เฉกเช่นการดื่มน้ำสะอาด แต่ความจริงแล้วฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น มีผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ง่ายขึ้น ยิ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสภาพอากาศที่ร้อน แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วและออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ หากผู้ดื่มมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น อีกทั้ง อุบัติเหตุจราจรที่มีความรุนแรงและพบบ่อย มักมีความเกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจาก ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง และส่งผลต่อระบบประสาท ลดความไวของการรู้สึกและการสั่งการของสมอง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกันทำให้การมองเห็นผิดไป และขาดสติสัมปชัญญะในการตัดสินใจช่วงเสี่ยววินาทีระหว่างเกิดอุบัติเหตุส่งผลให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
นพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้ฉลองสงกรานต์อย่างสุขกายสบายใจ ห่างไกลจากทั้งโรคภัย และอุบัติเหตุ สบส.ขอแนะให้ประชาชนงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท ระหว่างที่ออกมาฉลองเทศกาลสงกรานต์ในที่แจ้งหรือเมื่อต้องขับขี่ยานพาหนะ โดยให้หันมาดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอวันละประมาณ 2 ลิตร ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว เช่น โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ทั้งยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ และช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแม้อยู่ในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำให้ได้ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วด้วย สำหรับการดื่มน้ำให้ได้ตามปริมาณที่กำหนด ขอแนะนำให้ดื่มทีละนิดหรือจิบบ่อยๆ เพื่อให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายดูดซึมไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพิ่มภาระให้ระบบขับถ่าย เช่น ไต ระบบย่อยอาหาร เนื่องจากการดื่มน้ำครั้งละมากๆ ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ไม่ทันและจะถูกขับออกมาเป็นปัสสาวะแทน