กรมอนามัยแนะคนขับรถทางไกลดื่มกาแฟมากไปเกิน 4 แก้วต่อวัน หวั่นคาเฟอีนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ เสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น ใจสั่น แนะดื่มปริมาณพอสมควรเพื่อสร้างความตื่นตัว พร้อมย้ำเครื่องดื่มชูกำลังควรเลี่ยงเช่นกัน เปลี่ยนเป็นดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ กินผลไม้หรือดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยว เลี่ยงกินผักที่ย่อยยาก
เมืิ่อวันที่ 12 เม.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งระหว่างการเดินทาง ผู้ขับรถอาจมีอาการง่วงและเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผู้ขับรถบางรายจึงใช้วิธีการดื่มกาแฟซึ่งมีสารคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว แต่การดื่มกาแฟหากดื่มมากกว่า 4 แก้วต่อวันจะทำให้ร่างกายได้รับกาเฟอีนมากถึง 500 - 1000 มิลลิกรัม ทั้ง ๆ ที่โดยปกติร่างกายควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น จึงอาจส่งผลให้อาการหัวใจ เต้นเร็ว มือสั่น ใจสั่น และยังส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะด้วย เพราะเมื่อดื่มกาแฟไปแล้วประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง คาเฟอีน จะออกฤทธิ์และภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง สารคาเฟอีนกว่าครึ่งจะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะที่เพิ่มมากขึ้น
“นอกจากนี้ เครื่องดื่มประเภทชูกำลังก็ควรงดหรือเลี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะแม้หลายคนจะมีความเชื่อว่าเครื่องดื่มชูกำลังจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วง แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ยิ่งละเลยการพักผ่อน ทำให้ยิ่งอ่อนล้าจนมีอาการมึนงง อีกทั้งยังส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจตามมาใน ระยะยาวได้ ดังนั้น ผู้ขับรถทางไกลควรเปลี่ยนเป็นดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวัน หรือกินผลไม้สดหรือดื่ม น้ำผลไม้คั้นสดรสเปรี้ยวที่เป็นแหล่งวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะม่วงดิบ หรือสับปะรด แทนจะดีกว่า เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าที่มาจากความเครียดและกังวลขณะขับรถได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือกินในปริมาณที่พอดีขณะขับรถคืออาหารประเภทข้าวแป้ง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว และข้าวเหนียว เพราะทำให้รู้สึกง่วงได้ง่าย รวมทั้งให้เลี่ยงกินผักที่ย่อยยาก เช่น กะหล่ำปลีดิบ ดอกกะหล่ำ ถั่ว หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง และมันฝรั่ง งดเครื่องดื่มที่มีฟอง เช่น โซดา หรือน้ำอัดลมผสมโซดา เพราะมีผลทำให้ท้องอืดเฟ้อและง่วงนอนเช่นเดียวกัน