ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ที่ใช้เงินทุนสนับสนุนของเอกชนรายแรกของโลก ประสบความล้มเหลวในการนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวบริวารของโลก เมื่อวันพฤหัสบดี (11 เม.ย.) เมื่อยานหล่นกระแทกพื้น จากเหตุขัดข้องที่เครื่องยนต์หลัก
ยานอวกาศ “เบเรชีท” มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,170 ล้านบาท) ของอิสราเอล พยายามจะลดระดับลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์แบบนุ่มนวล แต่เกิดปัญหาหลายอย่าง ในระบบการสื่อสารและทางเทคนิค
ยานเบเรชีท มีเป้าหมายลงจอด เพื่อบันทึกภาพและทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นการปูทางสำหรับการสำรวจดวงจันทร์โดยใช้ต้นทุนต่ำในอนาคต เบเรชีทซึ่งเป็นภาษาฮีบรู หมายถึง “จุดเริ่มต้น” เป็นโครงการร่วมระหว่างบริษัท สเปซไอแอล องค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรในอิสราเอล กับบริษัทอิสราเอล แอโรสเปซ อินดัสตรีส์
ตามปกติการเดินทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ ซึ่งมีระยะทาง 380,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่ยานเบเรชีทใช้เวลาหลายสัปดาห์ เริ่มจากออกเดินทางด้วยจรวดขับดัน จากฐานปล่อยจรวดแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ยานเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในวันที่ 4 เม.ย. เท่ากับใช้เวลานานกว่าปกติถึง 15 เท่า
ในประวัติศาสตร์ 60 ปีการสำรวจอวกาศของมนุษย์โลก จนถึงขณะนี้มีเพียง 3 ประเทศ ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นดวงจันทร์ได้สำเร็จคือ รัสเซีย ขณะที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2509 ตามด้วยสหรัฐครั้งแรกในปี 2512 และจีน เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 ต้นปีนี้ ขณะที่อิสราเอลหวังจะเป็นประเทศที่ 4 แต่ล้มเหลวดังกล่าว