รองเลขาธิการ อย. ไม่ทราบเรื่องตำรวจจับกุมตัว “อ.ซ้ง” ชี้ตีความกฎหมายนิรโทษกรรมกัญชาไม่เหมือนกัน ระบุมูลนิธิข้าวขวัญสามารถแจ้งครอบครองกับทาง อย.ได้
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงกรณีการครอบครองกัญชาหลังจากนายพรชัย ชูเลิศ หรือ อาจารย์ซ้ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ ถูกจับกุมตัวไว้ในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครอง ซึ่งภายหลังได้ถูกประกันตัวออกมา ว่า กรณีการตรวจสอบที่ทำการของมูลนิธิข้าวขวัญ ใน จ.สุพรรณบุรี พบต้นกัญชา เมล็ดกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปจำนวนหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายปลดล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่นั้น ทาง อย. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแจ้งรับการครอบครองกัญชาและพิจารณาอนุญาตตามข้อบัญญัติของกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ครอบครองกัญชามาแจ้งการครอบครองให้ถูกต้องตามลักษณะของกัญชาที่ครอบครอง และวัตถุประสงค์การใช้ ซึ่งผู้แจ้งจะได้รับการยกเว้นโทษ ทั้งนี้ต้องแจ้งภายใน 90 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยสิ้นสุดในวันที่ 19 พ.ค. 2562
ภญ.สุภัทรา กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวที่มีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับมูลนิธิทาง อย.ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งการตีความเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมของทางพนักงานสอบสวนและ อย.ต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตีความข้อกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในขณะนั้น ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีไปแล้วจึงขึ้นอยู่กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมยืนยันว่าถึงแม้ทางมูลนิธิกำลังอยู่ในช่วงการถูกดำเนินคดีก็ยังสามารถเข้าแจ้งการครอบครองกับทาง อย.ได้ ซึ่งมองแล้วว่ามูลนิธิดังกล่าวอาจเข้าข่ายผู้ครอบครองที่สามารถปลูกและผลิตร่วมกับทาง อย. เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ป่วยในทางการแพทย์ได้
ภญ.สุภัทรา กล่าวด้วยว่า ในขณะนี้มีผู้มาแจ้งครอบครองกัญชาที่ อย. แล้วจำนวน 906 ราย โดยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ 11 รายและผู้ป่วย 895 ราย สำหรับในต่างจังหวัดมีผู้มาแจ้งครอบครองกัญชา เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ 5 รายและผู้ป่วย 442 ราย ทั้งนี้ทาง อย. ยินดีสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนายา รวมทั้งพืชเสพติด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ให้ประชาชนมียาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่ปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการ
ภญ.สุภัทรา ยังกล่าวด้วยว่า ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชา ไว้ดังนี้ 1.กรณีการปลูก ผลิตกรือสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ใน 5 ปีแรก หลังกฎหมายบังคับใช้ ผู้ขออนุญาตต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลรัฐ หรือบุคคลที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการสอน, วิจัยทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์เกษตร วิสาหกิจชุมชนที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 2.ส่วนกรณีการปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัย บุคคลดังกล่าวข้างต้นสามารถขออนุญาตได้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อการศึกษาวิจัยไปแล้ว เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร อย่างไรก็ตามขณะนี้ทาง อย.ได้ออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการครอบครองกัญชารองรับไว้แล้ว 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉ.1 การกำหนดคุณสมบัติแพทย์แผนไทย,หมอพื้นบ้าน ฉ.2 การอนุญาตให้เสพกัญชาเพื่อรักษาโรค ซึ่งทั้ง 2 ฉบับกำลังรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ กฎหมายลูกอีก 5 ฉบับ กำลังเสนอ ครม. 2 ฉบับ และ 3 ฉบับ เป็นกำหนดการในภาคกิจกรรมต่างๆของการใช้กัญชา ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป