รำลึก 25 ปี ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา : อภัยและสมานฉันท์

2019-04-08 19:10:04

รำลึก 25 ปี ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา : อภัยและสมานฉันท์

Advertisement

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายนผ่านมา รวันดาเริ่มต้นพิธีรำลึกถึงชนเผ่าตุ๊ดซี่และชาวฮูตูสายกลาง ที่ถูกสังหารไปกว่า 800,000 คนในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่า 3 เดือนในรวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน โดยพิธีรำลึกจะมีขึ้น 1 สัปดาห์ ประธานาธิบดีพอล คากาเม วางพวงหรีดที่อนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กีโซซี ที่ฝังศพของประชาชนกว่า 250,000 คน ก่อนกล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นของการเสียสละเพื่อสร้างชาติขึ้นมาใหม่และร้องเพลงในช่วงบ่าย จากนั้นก็เป็นการจุดเทียนในสนามฟุตบอลแห่งชาติ ซึ่งจะมีประชาชนเข้าร่วมเต็มความจุของสนาม

ผ่านมา 25 ปีแล้วตั้งแต่ชนเผ่าตุ๊ดซี่มากกว่า 1 ล้านคนถูกฆ่าในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อปี 2537 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในคืนวันที่ 6 เมษายน ผู้รอดชีวิตและผู้กระทำความผิด ลงเอยกันด้วยความปรองดอง

ชายคนหนึ่งพบกันสันติสุขได้ด้วยการแต่งงานกับลูกสาวของชายอีกคนที่เข่นฆ่าครอบครัวของเขาเกือบจะยกครัว และนี่คือตัวอย่างความสัมพันธ์ที่เกิดจากการให้อภัยและความปรองดอง แม้จะเป็นเรื่องราวความรักที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จากโศกนาฏกรรมเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเขา




จอห์น กีราเนซา และไมเลจันเน อูวีมานา แต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยามา 11 ปีแล้ว

สมาชิกในครอบครัวของกีราเนซาถูกพ่อของไมเลจันเน ฆ่าทิ้งในช่วงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้ง 2 ครอบครัวเป็นเพื่อนบ้านกัน บ้านอยู่ติดกัน แค่คนละชนเผ่า จนกระทั่งชนเผ่าฮูตู เริ่มไล่ล่าและเข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่



“พ่อของผมมีภรรยา 10 คน และลูก 37 คน และภรรยาทั้ง 10 คน และลูกอีก 27 คน ถูกฆ่าตาย ผมรอดชีวิต แต่ผมก็เป็นคนพิการ” กีราเนซา กล่าว

ส่วนพ่อของไมเลจันเน หลบหนี และไม่พบเขาอีกเลยตั้งแต่นั้นมา ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไร ผ่านมาหลายปีหลังเหตุการณ์ในวันนั้น กีราเนซา ได้แต่เก็บงำความโกรธแค้นและความขมขืนไว้ในใจต่อการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว แต่ในวันหนึ่งเขาได้พบกับไมเลจันเนอีกครั้ง และตกหลุมรักเธอ เขาต้องการแต่งงานกับเธอ

“ผมสวดมนต์อ้อนวอนขอภรรยาสักคนเพื่อมาช่วยเหลือผม เพราะผมเป็นคนพิการ แต่ผู้หญิงที่ผมได้พบกลับเป็นคนที่พ่อของเธอฆ่าครอบครัวของผม ผมเข้าไปหาเธอ แต่ก็ไม่รู้ว่า เธอจะยอมรับผมหรือไม่” กีราเนซากล่าวถึงความในใจ



ไมเลจันเน ยอมรับความรักจากกีราเนซา แต่ญาติของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เห็นด้วยกับการใช้ชีวิตคู่ของทั้ง 2 เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจหนีตามกัน

ไมเลจันเน กล่าวว่า เมื่อพวกเราแต่งงานอยู่กินกันแล้ว ทุกคนโกรธพวกเรามาก ทั้ง 2 ครอบครัวต่างก็ไม่ยอมพูดจากับเรา แต่พวกเขาก็แวะเวียนมาสังเกตการณ์ว่าฉันยังมีชีวิตอยู่ดีไหม พวกเขาต้องการดูว่าฉันสุขสบายดีอยู่ไหม

เหตุการณ์อึดอัดเป็นแบบนี้อยู่นาน จนกระทั่งกีราเนซา ได้จ่ายหนี้ให้มารดาของไมเลจันเนจนหมด และในที่สุด 2 ครอบครัว ก็หันหน้ามาคุยกัน และสามัคคี ปรองดองกันอีกครั้งด้วยความรักที่ต่างฝ่ายต่างมีให้กัน

วันนี้พวกเขาไปมาหาสู่กันได้อย่างอิสระและเสรี ลูก ๆ ของทั้ง 2 ครอบครัวก็เล่นด้วยกันได้อย่างสนิทสนม โดยไม่ได้รับรู้เรื่องราวความบาดหมางที่เกิดขึ้นในอดีต



เรื่องราวของพวกเขาเป็นหนึ่งในหลายพันเรื่องของการให้อภัยและปรองดองกันในรวันดา เมื่อมีการพิจารณาคดีผ่านศาลยุติธรรมกาชาชา หรือศาลชุมชน เน้นการสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพ ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ และหลายคนพ้นโทษได้กลับมาเผชิญหน้ากับเหยื่อของพวกเขาอีกครั้ง

และกลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ได้สร้างพันธะจากอดีตที่ผ่านมา ต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อก้าวไปข้างหน้า

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศรวันดา แทบทุกคนได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำผิด, เหยื่อ, เครือญาติของเหยื่อ กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ฮูตูและตุ๊ดซี่ในรวันดา ใช้กระบวนการปรองดอง สมานฉันท์และความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่เกิดความสูญเสีย ที่มีการสู้รบกันอย่างโหดร้าย นำไปสู่สังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ