“นิด้าโพล” เผย ปชช.9 จังหวัดภาคเหนือ ร้อยละ 36.47 ระบุได้รับผลกระทบมากจากปัญหาฝุ่นควัน ส่วนใหญ่มีอาการ แสบจมูก เป็นหวัด น้ำมูกไหล โดยร้อยละ 87.95 ระบุว่า ไม่ได้ไปหาหมอ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 เม.ย. จาก ผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง พะเยา แพร่ และตาก จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง โดยถามถึงการได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันของผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ร้อยละ 36.47 ระบุว่า ได้รับผลกระทบมาก ร้อยละ 20.51 ระบุว่า ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ร้อยละ 25.54 ระบุว่า ได้รับผลกระทบบ้าง (ไม่ถึงกับมาก) ร้อยละ 8.22 ระบุว่า ได้รับผลกระทบน้อยหรือแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย และร้อยละ 9.26 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบเลย
ในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ร้อยละ 60.51 ระบุว่า มีอาการ แสบจมูก เป็นหวัด น้ำมูกไหล รองลงมา ร้อยละ 49.34 ระบุว่า หายใจไม่สะดวก ร้อยละ 48.11 ระบุว่า ระคายเคืองตา ร้อยละ 39.23 ระบุว่า ไอ จาม เจ็บคอ แสบคอ ร้อยละ 7.12 ระบุว่า คันตามร่างกาย ร้อยละ 2.37 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ วิสัยทัศน์ในการมองเห็นลดลง และร้อยละ 0.18 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
ส่วนวิธีป้องกันตัวเองของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 83.73 ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัย รองลงมา ร้อยละ 29.02 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน ร้อยละ 21.64 ระบุว่า ปิดประตู-หน้าต่างกันฝุ่น ร้อยละ 10.64 ระบุว่า งดออกกำลังกายกลางแจ้ง และดื่มน้ำมาก ๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 6.16 ระบุว่า ใช้พัดลม – เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 5.63 ระบุว่า งดการเผาขยะ ร้อยละ 4.13 ระบุว่า ปิดห้องแอร์ให้สนิท ร้อยละ 3.96 ระบุว่า ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 1.50 ระบุว่า งดสูบบุหรี่ ร้อยละ 0.70 ระบุว่า เดินทางไปต่างจังหวัดที่ไม่มีฝุ่น ร้อยละ 0.44 ระบุว่า ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และร้อยละ 2.81 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ฉีดน้ำบริเวณรอบ ๆ บ้าน สวมใส่แว่นตา ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีการป้องกันใด ๆ
เมื่อถามผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ มีปัญหาเรื่องฝุ่นควันจนต้องไปหาหมอหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 87.95 ระบุว่า ไม่ได้ไปหาหมอ รองลงมา ร้อยละ 10.82 ระบุว่า ไปหาหมอ และร้อยละ 1.23 ระบุว่า ไปหาหมอแต่ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นหรือไม่ โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ไปหาหมอ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.14 ระบุว่า ไปหาหมอจำนวน 1 ครั้ง รองลงมา ร้อยละ 30.08 ระบุว่า ไปหาหมอจำนวน 2 ครั้ง ร้อยละ 13.82 ระบุว่า ไปหาหมอจำนวน 3 ครั้ง และร้อยละ 5.69 ระบุว่า ไปหาหมอจำนวน 4 ครั้งขึ้นไป
สำหรับค่าใช้จ่ายโดยรวมในการไปหาหมอของผู้ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากปัญหาฝุ่นควันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 45.53 ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย/ใช้สิทธิรักษาฟรี ร้อยละ 26.83 ระบุว่า ไม่เกิน 500 บาท ร้อยละ 13.01 ระบุว่า 501 - 1,000 บาท ร้อยละ 2.44 ระบุว่า 1,001 - 1,500 บาท ร้อยละ 6.50 ระบุว่า 1,501 - 2,000 บาท และร้อยละ 5.69 ระบุว่า 2,001 บาทขึ้นไป
ท้ายที่สุดเมื่อถามผู้ที่ได้รับผลกระทบถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน ตั้งแต่ต้นปีมานี้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.90 ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน ขณะที่ร้อยละ 43.10 ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน พบว่า มีค่าใช้จ่ายรายการใหญ่ ๆ เช่น ซื้อเครื่องฟอกอากาศ พบว่า ร้อยละ 61.70 ระบุว่า ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 14.89 ระบุว่า 5,001 - 10,000 บาท ร้อยละ 4.26 ระบุว่า 5,001 - 10,000 บาท ร้อยละ 8.51 ระบุว่า 15,001 - 20,000 บาท และร้อยละ 10.64 ระบุว่า 20,001 บาทขึ้นไป ส่วนค่าใช้จ่ายรายการย่อย ๆ เช่น หน้ากาก เสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น พบว่า ประชาชน ร้อยละ 42.44 ระบุว่า ไม่เกิน 100 บาท ร้อยละ 23.09 ระบุว่า 101 - 200 บาท ร้อยละ 12.68 ระบุว่า 201 - 300 บาท ร้อยละ 4.88 ระบุว่า 301 - 400 บาท และร้อยละ 16.91 ระบุว่า 401 บาทขึ้นไป