ตลอดระยะเวลาที่บังคับใช้มาตรการห้ามเผา ผืนป่าจังหวัดลำปางยังเสียหายหนักจากไฟป่า บางหมู่บ้านต้องร่างข้อบังคับใช้เอง เพื่อรักษาผืนป่า และลดปัญหาหมอกควัน
ที่ จ.ลำปาง(โซนใต้) บรรยากาศเวทีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้นำหมู่บ้าน กับส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ต.แม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง ประกอบไปด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อุทยานแห่งชาติแม่วะ สถานีควบคุมไฟป่าแม่วะ และผู้บริหาร อบต.แม่วะ และประชาชนจิตอาสาพระราชทาน ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) 8 หมู่บ้านใน ต.แม่วะ จำนวนกว่า 120 คน ภายในบริเวณศาลาวัดแม่วะหลวง ต.แม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง เพื่อร่วมกันทำบันทึกข้อตกลง MOU กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ ต.แม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติ การควบคุมการเผาในพื้นที่โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ตลอดจนประชาชนจิตอาสาร่วมกันสอดส่อง ป้องปราม ควบคุมไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยให้มีการบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในการดับไฟเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในอากาศและสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบประชารัฐ เป็นแนวทางการปฏิบัติ
หลังไฟป่าในหมู่บ้านรุนแรงเพิ่มขึ้นส่งผลทำให้เกิดหมอกควันไฟป่าฟุ้งกระจายไปทั่วทั้ง อ.เถิน และอำเภอข้างเคียง สาเหตุหลักยังเกิดจากการลักลอบจุดไฟเผาป่าเพื่อหาของป่า แม้ว่าก่อนหน้านี้อุทยานแห่งชาติแม่วะ ได้มีประกาศอุทยานฯ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ห้ามเข้าเขตป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ในช่วงที่จังหวัดลำปางประกาศเขตควบคุมไฟป่า มาตรการห้ามเผา 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. ถึง 10 เม.ย.2562 ซึ่งปัจจุบันได้ขยายเวลาห้ามเผาออกไปอีก 20 วัน รวมเป็น 80 วัน ไปสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.2562 แต่ก็มีการฝ่าฝืนโดยมีการจับกุมกลุ่มชาวบ้านได้จำนวนหนึ่ง
โดยที่ประชุมได้จัดทำบันทึกข้อตกลง และลงนามใน (MOU) ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างกำนันตำบลแม่วะ กับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ โดยมีส่วนราชการในพื้นที่ร่วมลงนามเป็นพยาน ว่าด้วยข้อตกลงร่วมกัน 3 ข้อ คือ (1) หากเกิดไฟป่าขึ้นในเขตรับผิดชอบของหมู่บ้านทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่การเกษตร ฯลฯ ให้ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านส่งตัวแทนครัวเรือนละ 1 คน ในการปฏิบัติภารกิจเข้าดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที (2) หากครัวเรือนใดไม่สามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าหรือไม่ให้ความร่วมมือจะต้องเสียค่าปรับครัวเรือนละ 100 บาท/ครั้ง เพื่อเก็บเข้ากองทุนของหมู่บ้าน และ(3) หากครัวเรือนใดฝ่าฝืนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวจะมีการห้ามเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอย่างเด็ดขาด และจำกัดสิทธิในการเข้าไปหาของป่าในพื้นที่ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่ผ่านร่าง สนช. ซึ่งเตรียมประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนรายชื่อเพื่อจำกัดสิทธิการเข้าอุทยานแห่งชาติแม่วะ และไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จากนั้นจะประกาศให้ทราบถือปฏิบัติทั่วกัน