จ.กำแพงเพชรซักซ้อมขั้นตอนการพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้พิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความสวยงามสมพระเกียรติ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเน้นย้ำรายละเอียดทุกขั้นตอนเพื่อให้วันจริงนั้นไม่มีความผิดพลาดอย่างเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. เวลา 15.00 น.ถึง 18.00 น. ที่ผ่านมา ที่บริเวณแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีขนาดกว้าง 9.50 เมตร ลึก 6.0 เมตร ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร ตั้งอยู่บ้านบ่อสามแสน อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ทาง จ.กำแพงเพชร กำหนดการซักซ้อมพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เสมือนจริงเพื่อให้พิธีการต่างๆนั้นเกิดความเรียบร้อยสวยงามและสมพระเกียรติ นำโดยนายเชาวลิตร แสงอุทัย ผวจ.กำแพงเพชร พร้อมด้วย นายไพโรจน์ แก้วแดง และนายเทวัญ หุตะเสวี รองผู้ว่าฯ นายพิสิษฐ์ แร่ทอง ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกำแพงเพชร ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชร อัยการจังหวัดกำแพงเพชร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกำแพงเพชร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร รองผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกำแพงเพชร นายอำเภอทั้ง 11 อำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ.กำแพงเพชร เทศบาลเมืองกำแพงเพชร เทศบาลเมืองหนองปลิง ได้ร่วมกันซักซ้อมขั้นตอนการพลีกรรมตักน้ำและพิธีการต่างๆรวมถึงซักซ้อมแนวทางการบันทึกภาพ ประกอบการจัดทำหนังสือที่ระลึก พิธีทำน้ำอภิเษกเพื่อให้ภาพประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยสวยงามและสมพระเกียรติ
สำหรับกำหนดจัดพิธีทำน้ำอภิเษกของ จ.กำแพงเพชร เพื่อนำไปประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้จังหวัดจัดทำพิธีน้ำอภิเษกโดยมีกำหนดการดังนี้
1. วันเสาร์ที่ 6 เม.ย. 2562 เวลา 10.00 น.พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ ณ บ่อสามแสนอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
2. วันจันทร์ที่ 8 เม.ย.2562 เวลา 15.00 น. พิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอุโบสถวัดคูยาง พระอารามหลวง
3. วันอังคารที่ 9 เม.ย 2562 เวลา 08.00 น. พิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ณ อุโบสถ วัดคูยาง พระอารามหลวง
ประวัติที่มาของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์กำแพงเพชร เป็นแหล่งน้ำบ่อสามแสน เป็นบ่อน้ำโบราณของโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ซึ่งในอดีตพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี ของเมืองกำแพงเพชรได้ใช้จำพรรษา ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โดยสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20- 21 มีลักษณะเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 9.50 เมตร ลึก 6.0 เมตร เกิดจากการขุดลึกลงไปในชั้นศิลาแลงเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารโบราณสถาน และปรับให้เป็นบ่อเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคด้วย มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าในสมัยโบราณ ชาวบ้าน ชมเมือง และขบวนทัพต่างๆที่ผ่านเมืองกำแพงเพชร ต้องอาศัยใช้น้ำในบ่อแห่งนี้ ในการอุปโภคบริโภค จำนวน 3 แสนคนตลอดทั้งปีก็ไม่มีหมด จึงได้เรียกบ่อศิลาแห่งนี้ว่า “บ่อสามแสน”
ต่อมาในวันที่ 24 ส.ค.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นถึงเมืองกำแพงเพชร และเสด็จมาที่วัดอาวาสใหญ่ ซึ่งทรงได้พระราชนิพนธ์ถึงบ่อสามแสนไว้ดังนี้ “วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมี ข้างหน้าวัดมีสระสี่เหลี่ยม กว้างยาวลึกประมาณสัก 5 วาขุดลงไปในแรงเหมือนอ่างศิลา ไม่มีรอยต่อเลย มีห้องฝาแรงกั้นสำหรับพระสรงน้ำ คงจะใช้โพงคันชั่ง น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้...”
ในปี พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอสาธิราช ก็ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดอาวาสใหญ่แห่งนี้ด้วย
ในปี พ.ศ 2511 แหล่งน้ำบ่อสามแสนและโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511 และได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ 2545
ในปี พ.ศ 2554 รัฐบาลได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันที่ 5.ค.2554 และได้จัดให้มีพิธีเสกน้ำและอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายเป็นน้ำสรงอภิเษก ซึ่งได้มีการรวบรวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทั่วประเทศเพื่อใช้ในการนี้ด้วย โดย จ.กำแพงเพชร ได้พิจารณาแหล่งน้ำบ่อสามแสนเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ และนำไปประกอบพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดคูยาง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร และได้อัญเชิญมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อถวายเป็นน้ำสรงอภิเษกในครั้งนั้น
ปัจจุบันแหล่งน้ำบ่อสามแสน อยู่ในสภาพดีไม่มีชำรุดเสียหายแต่อย่างใด โดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้ดำเนินการดูแลรักษาแหล่งน้ำดังกล่าว ให้อยู่ในสภาพที่สะอาดอยู่เสมอ มีการดูแลปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม กำจัดวัชพืช และดูแลพื้นที่ให้สะอาด รวมทั้งมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม พร้อมทั้งจัดทำรั้ว ติดป้ายประกาศเตือนนักท่องเที่ยวป้องกันการปีนป่าย และป้ายบรรยายเผยแพร่ประวัติความเป็นมาเพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมชม