กฎหมายอาญาฉบับใหม่ หรือกฎหมายศาสนาอิสลาม “ชารีอะห์” ของบรูไน เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันพุธที่ 3 เมษายน ซึ่งกำหนดบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตด้วยการขว้างปาก้อนหินจนตาย สำหรับผู้ที่กระทำความผิดรักร่วมเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันทั้งชายและหญิง และการคบชู้ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมความผิดอาญาอื่น ๆ ด้วย เช่นความผิดฐานลักขโมย จะถูกตัดข้อมือขวาในการทำผิดครั้งแรก และตัดข้อเท้าซ้าย หากกระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2
กฎหมาย “ชารีอะห์” ฉบับนี้ จุดชนวนให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติทั่วโลก นำโดยสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่ออกแถลงการณ์ประณามว่า เป็นกฎหมายที่ "โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม" และจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ขณะที่ สหรัฐก็วิพากษ์วิจารณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเกี่ยวกับการตัดสินใจของบรูไนในการบังคับใช้กฎหมายอาญาฉบับนี้ และเรียกร้องบรูไนให้สัตยาบันและสนับสนุนอนุสัญญาสหประชาชาติต่อต้านการทรมาน ส่วนมิเชล บาเชเลต ผู้อำนวยการด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็น กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า บรูไนจะทำให้สิทธิมนุษยชนเสื่อมถอยอย่างเลวร้าย หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้
เช่นเดียวกับกลุ่มคนดังดารา นักร้องศิลปิน ในวงการบันเทิงชาติตะวันตก ซึ่งนำโดย จอร์จ คลูนีย์ พระเอกคนดังชาวอเมริกัน และเซอร์ เอลตัน จอห์น ศิลปินเพลงป๊อปชื่อดังชาวอังกฤษ เป็นแกนนำเรียกร้องให้ร่วมกันคว่ำบาตรด้วยการงดใช้บริการ โรงแรมหรู 9 แห่งที่สุลต่านแห่งบรูไน และชาวบรูไนเป็นเจ้าของทั้งในสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งรวมถึงโรงแรมเบเวอรลี ฮิลล์ ในเมืองลอสแอนเจลีส และโรงแรมดอร์เชสเตอร์ในกรุงลอนดอน
กฎหมายชารีอะห์ฉบับนี้ ทำให้บรูไนกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประมวลกฎหมายอาญาชารีอะห์บังคับใช้ระดับประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย
ด้านสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ ผู้ปกครองบรูไน ตรัสว่า พระองค์ต้องการเห็นคำสอนในศาสนาอิสลามในประเทศนี้ ได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดขึ้น พร้อมยืนยันกับชาวโลกว่า บรูไนเป็นประเทศที่มีความยุติธรรมและมีความสุข ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ดี ๆ ตามแบบอุดมการอิสลามได้