3 สถานที่สำคัญ พิธีเสกน้ำสรงมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษก

2019-04-08 19:50:39

3 สถานที่สำคัญ พิธีเสกน้ำสรงมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษก

Advertisement

ในการพิธีเบื้องต้น ภายหลังพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ พิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในจังหวัดต่างๆ ครั้นถึงพิธีทำน้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก จะมีความเกี่ยวเนื่องกับ 3 สถานที่สำคัญที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี ได้แก่ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร (สถานที่เสกน้ำอภิเษกรวม จากกรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ) หอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง (แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร) และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (สถานที่เก็บคนโทบรรจุน้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

วัดสุทัศนเทพวรามราม ราชวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1ตรงพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมชุมชนและศูนย์รวมศาสนสถานทั้ง พุทธและพราหมณ์กลางพระนคร แผนผังเขตพุทธาวาสจำลองภูมิจักรวาลตามคติมณฑลแบบพุทธ พระวิหารหลวงประดิษฐานพระศรีศากยมุนีหรือหลวงพ่อโตซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย ชุกชี (ฐานพระพุทธรูป) ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 8 ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรม พุทธประวัติและเรื่องในวรรณคดีด้านหน้าพระอุโบสถมีสัตตมหาสถานหรือสัญลักษณ์แสดงสถานที่ พระพุทธองค์ประทับภายหลังการตรัสรู้ 7 แห่งด้วยความสำคัญของสถานที่ตั้งและคติความเชื่อทางศาสนา วัดสุทัศนเทพวรารามจึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมือง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 เป็นสถานที่เสกน้ำอภิเษกจาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครเพื่อแห่เชิญไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมทั้งน้ำจากเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ 4 สระ

หอศาสตราคม เป็นหอขนาดเล็กหลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสี อยู่ริมกำแพงแก้ว พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก เดิมเป็นพระที่นั่งโถงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งแล้วสร้างหอศาสตราคมขึ้น สำหรับให้พระสงฆ์ ฝ่ายรามัญนิกายมาสวดพระปริตรทำน้ำพุทธมนต์ เพื่อถวายพระมหากษัตริย์สรงพระพักตร์ และสรงเป็นประจำตลอดจนประพรมรอบพระมหามณเฑียร คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย




ในรัชกาลที่ 4-5-6 และรัชกาลที่ 7 มีการสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวัน เวลา 14.00นาฬิกา ต่อมาในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน ได้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายรามัญ 5รูป มาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวันธรรมสวนะ เวลา 13.30นาฬิกา เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์ 1รูป ประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรครั้งหนึ่ง และนิมนต์พระพิธีธรรมจาก 10 วัด คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร วัดระฆังโฆสิตาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดอนงคาราม และวัดราชสิทธาราม จำนวนวัดละ 5รูป ผลัดเปลี่ยนกันมาสวดทำน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้งในเวลา 18.00 นาฬิกา น้ำพระพุทธมนต์ทั้งสองเวลานี้รวมเก็บไว้ในหม้อน้ำมนต์เพื่อจัดไปถวายสรงทุกวัน ตามราชประเพณีที่ได้เคยปฏิบัติสืบมา

น้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคมนี้ กรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลขอพระราชทานนำไปเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่าง ๆ 76 จังหวัดทั่วราชอาณาจักร สำหรับถวายสรงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 9 วาระครบรอบ นักษัตร คือ 6 รอบ 7 รอบ และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กรุงเทพมหานคร ได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคม นำไปรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่าง ๆ 76 จังหวัดทั่วราชอาณาจักร สำหรับถวายในพระราชพิธีครั้งนี้



วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2325 ในพระบรมมหาราชวังโดยไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา ภายในวัดประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญได้แก่ พระศรีรัตนเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ปราสาทพระเทพบิดร ประดิษฐานพระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ พระอัษฎามหาเจดีย์ พระระเบียงคดเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง รามเกียรติ์โดยรอบ ที่สำคัญ คือ พระอุโบสถเป็นสถานที่ ประกอบพระราชพิธีและรัฐพิธีทางพระพุทธศาสนา อาทิ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นี้วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้เป็นสถานที่สำคัญเก็บคนโทบรรจุน้ำมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย