เปิดให้บริการ “หอสมุดคุรุสภา”

2019-04-02 16:55:06

 เปิดให้บริการ “หอสมุดคุรุสภา”

Advertisement

เปิดให้บริการ “หอสมุดคุรุสภา” ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2562 เป็นต้นไป เน้นการให้บริการ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป 

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา เป็นประธานในพิธีเปิดหอสมุดคุรุสภา (KHURUSAPHA e-Library) เพื่อให้เป็นศูนย์รวมแหล่งความรู้เฉพาะทางด้านวิชาชีพทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การบริการสารสนเทศ การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ รวมถึงคลังปัญญาวิชาชีพ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ มีคณะผู้บริหารและพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ร่วมงาน ณ หอสมุดคุรุสภา ชั้น 2 หอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา


ดร.วัฒนาพร กล่าวว่า การเปิดให้บริการหอสมุดคุรุสภาในครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนดเป็นวันอังคารที่ 2 เม.ย.ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 64 พรรษา เพื่อน้อมเทิดพระเกียรติคุณในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ตาม พ.ร.บ.ครู พ.ศ.2488 ทรงเป็นครู และทรงเป็นผู้มีความสนพระทัยและส่งเสริมงานการพัฒนาห้องสมุด

หอสมุดคุรุสภา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นห้องสมุดเฉพาะทางด้านวิชาชีพทางการศึกษา เน้นการให้บริการ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา นิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ซึ่งเน้นให้บริการในรูปแบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-library) ให้บริการสารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าถึงข้อมูลหรือค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ในเวลา ที่ต้องการโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศเกี่ยวกับการศึกษา


สำหรับพื้นที่ที่เปิดให้บริการ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นห้องสมุด (e-Library) พื้นที่ส่วนนี้เน้นการให้บริการในรูปแบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่กับการให้บริการห้องสมุดในรูปแบบเดิม โดยให้บริการข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศเกี่ยวกับการศึกษา และองค์ความรู้ด้านวิชาชีพทางการศึกษา ด้วยการนำเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ สร้างฐานข้อมูลต่างๆ ทั้งในรูปแบบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) ฐานข้อมูลสื่อประสม (Multimedia) และฐานข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ PMB มาใช้เพื่อการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ จัดทำระบบ Guru Search เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลผ่านระบบฐานข้อมูลต่างๆ ของห้องสมุดอื่นๆ โดยระบบที่สามารถบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ซึ่งในขณะนี้ได้เปิดให้เข้าถึงการบริการหอสมุดคุรุสภาดิจิตอลผ่านทาง http://site.ksp.or.th/home.php?site=library และส่วนที่เป็นห้องบริการการอ่าน (Coffee Lounge) พื้นที่ส่วนนี้เน้นการให้บริการพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน และการนั่งพักผ่อนของผู้เข้ามาใช้บริการหอสมุดคุรุสภา เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์


หอสมุดคุรุสภา มีประวัติความเป็นมายาวนาน ควบคู่กับกระทรวงศึกษาธิการ และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2433 (ร.ศ.109) มีการจัดตั้งกรมศึกษาธิการ ในระยะแรกเริ่มนั้นเรียกว่า ห้องสมุด และห้องอ่านหนังสือ อยู่ในศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ ประกอบกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดี ได้ออกมาเป็นกฏที่ 2 ของระเบียบกรมการศึกษา ให้มีห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งความรู้สรรพวิทยาการ และเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ด้านวิชาการ รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ ห้องสมุดคุรุสภาจึงถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แรกเริ่ม ห้องสมุดคุรุสภาคือห้องอ่านหนังสือในสามัคยาจารย์สมาคม ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 ถือเป็นต้นกำเนิดของสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นแหล่งส่งเสริมความรู้ทางวิชาการ และเป็นสถานที่ชุมนุมของครู อาจารย์ สำหรับปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ต่อมา พ.ศ. 2507 ได้ย้ายห้องสมุดมาอยู่ที่ตึกหอสมุดคุรุสภา (ปัจจุบันคือ อาคารสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 1) และเปลี่ยนจากเรียกห้องสมุดเป็นหอสมุดคุรุสภา โดยหอสมุดคุรุสภาที่ให้บริการในขณะนั้นมีมีการจัดหมวดหมู่หนังสือด้านวิชาการและวิชาชีพทางการศึกษา โดยใช้ระบบทศนิยมของดิวอี้ เมื่อมีการตรา พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดให้มีองค์กรวิชาชีพ 2 องค์กร หอสมุดคุรุสภาก็ยังคงเป็นภารกิจงานของคุรุสภา ในฐานะสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา


หอสมุดคุรุสภาได้พัฒนาตามลำดับ มีการนำโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ (Alice for Window) ในการบริหารจัดการงานห้องสมุดให้มีระบบมากขึ้น ต่อมาได้พัฒนาปรับปรุงหอสมุดคุรุสภาให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-library) เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกทุกที่ และทุกเวลา และ พ.ศ. 2555 ได้ย้ายหอสมุดคุรุสภาจากตึกหอสมุดคุรุสภา ไปยังพื้นที่บริเวณ ชั้น 2 หอประชุมคุรุสภา ก็คือ ณ สถานที่ปัจจุบัน