รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบรถเข็นนั่ง 6ชนิดพิเศษ อุปกรณ์การแพทย์ 307 ชิ้น มูลค่าเกือบ 4 ล้านบาท ให้คนพิการโคราช ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ผุดไอเดียตั้ง“ธนาคารกายอุปกรณ์”
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่หอประชุมสงฆ์วัดพายัพ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้แก่ผู้พิการใน จ.นครราชสีมาจำนวน 173 คน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ สังกัดกรมสุขภาพจิต จ.นครราชสีมา สโมสรโรตารี่ท่านท้าวสุรนารี สโมสรโรตารี่อุตรดิตถ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เม.ย.2562
อุปกรณ์ที่มอบในวันนี้มีทั้งหมด 307 ชื้น มูลค่า 3.7 ล้านบาทเศษ ได้รับบริจาคจากองค์กรการกุศลประเทศสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ และสหพันธรัฐเยอรมัน ประกอบด้วยรถนั่งคนพิการ 6 ชนิดพิเศษที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศ เช่น รถเข็นเด็กสมองพิการ ปรับระดับปรับเอนได้ รถเข็นผู้ใหญ่ที่ป่วยติดเตียง รถเข็นเด็กอ่อนที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวม 118 คัน ที่เหลืออีก189 รายการ เป็นอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ โดยทีมอาสาสมัครระดับมืออาชีพทั้งไทยและต่างประเทศ จะปรับขนาดรถเข็นนั่งทุกคันและเบาะรองนั่ง ให้เหมาะกับสภาพความพิการแต่ละคน ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันแผลกดทับ ใช้งานง่ายและปลอดภัย
ข้อมูลล่าสุดในปี 2560 มีผู้พิการทั่วประเทศขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบบริการ 1.9 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 15 หรือประมาณ 290,000 คน เป็นผู้พิการทางใจและพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก การช่วยเหลือให้คนพิการยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและมีความสุขขึ้น โดยกรมสุขภาพจิตได้มอบความช่วยเหลือตั้งแต่พ.ศ.2543 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้มอบอุปกรณ์ดังกล่าวภายใต้พระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งแต่พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประชาชน จนถึงขณะนี้มีผู้พิการรับความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 30,000 คน จากการติดตามผลพบว่า ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ร้อยละ96 ใช้ชีวิตได้สุขสบายขึ้น มีความสุขในระดับมากสูงถึงร้อยละ 99.5
นพ.ชิโนรส กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่พบขณะนี้ ทั่วประเทศยังขาดแคลนศูนย์ซ่อมดูแลรถเข็น และอุปกรณ์ช่วยลดข้อจำกัดจากความพิการ บางคนเมื่ออุปกรณ์เสียหายแล้ว ไม่มีแหล่งซ่อม กรมสุขภาพจิตมีแนวคิดจะผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารกายอุปกรณ์เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการแลกเปลี่ยน รถเข็นนั่งและอุปกรณ์ที่ใช้กับคนพิการ และมีศูนย์ซ่อมโดยเฉพาะในชุมชนหรือจังหวัด โดยกรมสุขภาพจิตจะสนับสนุนอะไหล่ต่างๆ และวิชาการความรู้ทั้งเรื่องอุปกรณ์และประเภทความพิการให้ ในระยะแรกจะดำเนินครอบคลุมทุกภูมิภาคก่อน เริ่มที่ภาคใต้ที่จ.สงขลา จะลงนามความร่วมมือในวันที่ 5 เมษายน ที่จะถึงนี้ ส่วนภาคเหนือคาดว่าจะดำเนินการที่จ.แพร่ ภาคอื่นที่เหลืออยู่ระหว่างหารือกับระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสังคมจังหวัด สถาบันการศึกษา มูลนิธิผู้พิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ในปีนี้ รพ.จิตเวชฯได้จัดบริการเชิงรุกแก่ผู้พิการทางใจและสติปัญญา ในจ.นครราชสีมา โดยจัดทีมสวัสดิการทางใจและอาชีพ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมนักสังคมสงเคราะห์ของรพ.จิตเวช ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 อบจ. พัฒนาสังคมจังหวัดฯ และจัดหางานจังหวัด ลงเยี่ยมบ้านผู้พิการที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา ดูแลทั้งด้านสุขภาพใจ สวัสดิการทางสังคม และการส่งเสริมด้านอาชีพทั้งผู้พิการและผู้ดูแล ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ผู้พิการ พัฒนาเป็นต้นแบบของพื้นที่อย่างเป็นระบบและบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้พิการด้านนี้ยังได้รับการดูแลช่วยเหลือน้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นการแปลงภาระและให้เป็นพลังของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศด้วย