108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: เชื้อดื้อยา กับความเข้าใจผิดของคนทั่วไป

2017-07-13 11:20:15

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: เชื้อดื้อยา กับความเข้าใจผิดของคนทั่วไป

Advertisement

    ภาพ Orawan Pattarawimonchai / Shutterstock.com



    การดื้อยาของเชื้อโรคเกิดจากการที่ใช้ยามากเกินไปจนเชื้อพัฒนาให้สามารถต่อต้านได้ด้วยตัวเอง โดยเกิดขึ้นได้กับเชื้อทุกชนิดอยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหนในเชื้อแต่ละตัว รวมถึงพฤติกรรมการใช้ยาว่าถูกวิธีหรือไม่ โดยหลายคนอาจคิดว่าอาการป่วยทั่วไปเป็นอาการธรรมดาที่สามารถซื้อยารับประทานได้เองจึงไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เช่น ไข้หวัด อาการท้องเสีย หรือแผลที่เกิดขึ้นตามร่างกาย ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถหายได้เองโดยที่ไม่ต้องพบแพทย์หรือทานยาเลย

    คนจำนวนมากเรียกยาต้านเชื้อแบคทีเรียว่ายาแก้อักเสบ ความจริงแล้วยาแก้อักเสบคือยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบเท่านั้นโดยไม่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรียเลย ใช้สำหรับรักษาการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคเก๊าต์ ผู้ป่วยมักจะไปหาซื้อยา “แก้อักเสบ” มารับประทานเองด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และมักจะได้ยาฆ่าเชื้อหรือยาต้านแบคทีเรียมา โดยที่เข้าใจว่าคือยาแก้อักเสบซึ่งรับประทานแล้วจะหายได้ทุกโรค จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น

    ภาพ Lynn2511 / Shutterstock.com

    ทั้งนี้ เชื้อดื้อยาในร่างกายของเราสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าจะใช้ยาที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม แต่หากร่างกายได้รับยาที่ไม่ถูกต้องนั่นหมายความว่าร่างกายของเรานั้นใช้ยาเกินความจำเป็นทำให้เชื้อแบคทีเรียปกติในร่างกายดื้อยาโดยเราไม่ได้ประโยชน์จากการรับประทานยานั้นแต่ประการใด



    ผลจากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขและเวลคัมทรัสต์ ซึ่งเป็นกองทุนด้านสาธารณสุขของประเทศอังกฤษ พบว่าทุกๆ ชั่วโมงในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาปฏิชีวนะเฉลี่ย 2 คน โดยในปี 2010 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทยถึง 19,122 คน บางรายงานกล่าวว่าตัวเลขนี้อาจสูงถึงกว่าสามหมื่นคน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนไทยสามารถหาซื้อยารับประทานเองตามร้านขายยาได้ง่าย โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์

    ดังนั้น เราจึงควรมีความระมัดระวังในการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ไม่หาซื้อยากลุ่มนี้มารับประทานเองหากจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่มีความรู้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา




















    ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม

    สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ 

    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล