“สมชัย”โพสต์จุดตาย กกต.คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อผิด

2019-04-01 11:45:47

“สมชัย”โพสต์จุดตาย กกต.คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อผิด

Advertisement

“สมชัย”โพสต์จุดตาย 7 กกต. สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจนำไปสู่การถอดถอน ความผิดทางอาญาหากยังไม่ใส่ใจ

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Somchai Srisutthiyakorn ระบุว่า จุดตายของ กกต.ชุดปัจจุบัน ความวุ่นวายไม่เรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร นอกเขต การนับคะแนน การรายงานผล บัตรเขย่ง การให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่อาจเป็นสาเหตุเพียงพอหรือมีนัยสำคัญที่นำไปสู่การถอดถอนหรือลงโทษใดๆต่อ กกต.ได้ชัดเจนนัก เพราะหากกล่าวให้เกิดความเป็นธรรม การที่ กกต.เพิ่งเข้ามาใหม่ ความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆกับการเลือกตั้งที่ต้องอาศัยบุคลากรร่วมล้านคนมาช่วยกันทำงานนั้นยากที่ กกต.จะเข้าไปกำกับดูแลให้เกิดความเรียบร้อย ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบมากกว่า แต่กระแสสังคมกลับมาลงที่ กกต. 7 ท่าน แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องเตือนและเป็นจุดตายแน่นอนที่อาจนำไปสู่การถอดถอนอย่างมีเหตุผลและอาจนำไปสู่ความผิดทางอาญาได้โดยง่ายหากยังไม่ใส่ใจโดยยังให้สำนักงานเป็นผู้กระทำโดยปราศจากการกำกับอย่างจริงจัง คือเรื่อง สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น มีขั้นตอนของการคำนวณ เขียนไว้ใน มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งอ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย และสามารถอ่านแปลความหมายนำไปสู่การคำนวณที่แตกต่างกันและทำให้เกิดผลแตกต่างกันอย่างน้อยสองแบบ

แบบแรก เป็นแบบที่เห็นเผยแพร่ในสื่อทั่วไป ทำให้มีพรรคเล็กได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นมาจำนวน 11 พรรค โดยเป็นพรรคที่ได้คะแนนระหว่าง 33,748- 69,417 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยของ ส.ส.1 ที่นั่ง ที่คำนวณไว้ว่า เท่ากับ 71,605 คน เป็นการขัดกับเหตุผลว่า คะแนนแค่สามหมื่นเศษ ทำไมถึงได้ ส.ส. ในขณะที่ พรรคใหญ่และพรรคกลางต้องใช้คะแนนถึงเจ็ดหมื่นเศษจึงได้ ส.ส.หนึ่งคน

แบบที่สอง เป็นการคำนวณโดยนักวิชาการ ที่นำแต่ละบรรทัดของกฎหมายมาแปลความและทดลองคำนวณ ซึ่งมีผลทำให้ 11 พรรคเล็กที่มีคะแนน ส.ส.เขต ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 71,605 คน ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทำให้พรรคกลางและพรรคใหญ่ มีจำนวน ส.ส.มากขึ้น

การตัดสินใจแบบใดแบบหนึ่ง หากมีการพิสูจน์ได้ว่า เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของ กกต.เพื่อไปสนับสนุนให้พรรคการเมืองใด ชนะการเลือกตั้งและสามารถตั้งรัฐบาลได้ จะตรงกับข้อหาที่ กกต.ชุดที่สองเคยโดนมาก่อน คือ “กระทำการเพื่อให้เกิดความได้เปรียบของพรรคการเมืองหนึ่งทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้” ซึ่งผลคือ กกต.ถูกศาลตัดสินจำคุก

เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ กกต. 7 ท่านต้องคิดและรับฟังจากทุกฝ่ายให้รอบคอบ เพราะแปลความผิดอักษรเดียว มีพรรคที่ได้ มีพรรคที่เสีย และเขาฟ้องแน่นอนครับ

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Somchai Srisutthiyakorn