หมายเหตุสถานการณ์: เดิมพันอนาคตเดินหน้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน

2017-07-13 06:00:24

หมายเหตุสถานการณ์: เดิมพันอนาคตเดินหน้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน

Advertisement

"เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคาย ถือว่าเป็นสายแรกของไทย ที่ตกลงกันเป็นความร่วมมือไทย-จีน เขามีความสามารถตรงนี้ เป็นข้อตกลงกันมานานแล้ว มันก็ต้องหาทางทำกันให้ได้ ผมได้พูดคุยกับนายกฯ จีน ซึ่งนายกฯ จีนได้ขอให้มีบริษัทจากจีนมาบริหารในประเทศไทย เราระบุว่า ขอทำเองดีกว่า เพราะกลัวการผูกขาด โดยเราเอาเทคโนโลยีของเขามาร่วมก่อสร้าง ใช้ส่วนประกอบของประเทศไทยให้มากที่สุด ส่งคนไทยไปเรียนรู้เทคนิคต่างๆ จากจีน ให้เขามาสอน เพื่อจะควบคุมเองในอนาคต วันนี้เราไม่ได้ให้เขาสักอย่าง เป็นรูปแบบที่ได้ตกลงกันแล้ว เราจะได้ประโยชน์ในวันข้างหน้าอย่างเต็มที่" พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งหลังที่ประชุม ครม.นัดวันอังคารที่ 11 ก.ค.2560 อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย – จีน

เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งนายกฯ ลุงตู่และ รมว.คมนาคม พยายามเน้นคำว่า “รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย” ระยะทาง 647 กม.จากที่แต่เดิมยังไม่กล้าพูดเต็มปากว่าจะไปถึงหนองคาย..หรือไม่?  ดังนั้นวันที่ 11 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมาจึงถือเป็นหลักไมล์หรือหมุดหมายสำคัญของประเทศไทย ภายใต้การตัดสินใจขั้นสุดท้าย (และน่าจะท้ายสุดแล้วด้วยว่าเราจะเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไทย-จีน) ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่มีเดิมพันสูงมาก ทั้งในแง่การใช้จ่ายเงินงบประมาณของชาติ  และในแง่ความได้เสียระหว่างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจระยะยาวกับหนี้สินของประเทศ  และระหว่างความสูญเปล่ากับความเชื่อมโยงกับโลกผ่านยุทธศาสตร์ ONE BELT ONE   ROAD ของจีน..
 
เรียกขานให้เต็มยศโครงการที่ ครม.อนุมัติผ่านอย่างเป็นทางการดังว่า ต้องเรียกว่า โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา




แน่นอนที่สุดโครงการแสนแพงโครงการนี้  ถ้าตัดสินใจถูกต้องลูกหลานไทยในวันหน้าต้องชื่นชมการมองการณ์ไกล แต่ถ้าอนาคตโครงการนี้กลายเป็นมรดกบาปหรือภาระรกรุงรังของแผ่นดิน รัฐบาลชุดนี้ก็มีโอกาสถูกสาปแช่งย้อนหลัง  เหมือนทุกวันนี้ที่ผู้คนยังไม่เลิกด่าโครงการรถไฟฟ้าโฮปเวลล์ที่ทิ้งเสาอัปยศเอาไว้
เช่นนี้แล้ว..รัฐบาลลุงตู่ โดยเฉพาะ รมว.คมนาคมอย่าง คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  ต้องบอกกล่าวกับสังคม บอกกล่าวกับคนไทยให้รับทราบข้อมูลอย่างกว้างขวาง และโครงการต้องดำเนินการให้โปร่งใส มีธรรมาภิบาล  หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดรัฐบาลต้องทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการๆ นี้ไปด้วย ถ้าผิดก็ผิดด้วยกัน ถ้าถูกต้องงดงามก็ต้องภูมิใจในอนาคตร่วมกัน..
ต้องบอกกันตรงๆว่า ที่ผ่านมา 2 ปีเศษก่อนจะมีมติครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.สังคมมีความรับรู้ ความเข้าใจเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบเข้าใจจริงๆ น้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะมีความสับสนมึนงงสงสัยมากกว่า ทั้งในแง่ความจำเป็น ความคุ้มค่าและรูปแบบการลงทุน...


ครับ..วันนี้เป็นที่ชัดเจนว่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ- นครราชสีมา มูลค่าการลงทุน 179,413 ล้านบาท เป็นการลงทุนของฝ่ายไทยทั้งหมด ประเทศจีนนั้นจะรับจ้างช่วยเหลือเราด้านการออกแบบ ให้คำปรึกษางานโยธา ระบบไฟฟ้า เครื่องกล ขบวนรถ การวางระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งงานเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของเนื้องานทั้งหมด
ข้อมูลพื้นฐานที่น่าสนใจของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน  ที่น่าจะรับรู้ไว้ อาทิ-ระยะทางกรุงเทพฯ-โคราช 253 กม.ใช้เวลา 1 ชม.17 นาที ความเร็วของรถ 250 กม./ชม. -อัตราค่าโดยสารคิดเริ่มต้นที่ 80 บาท บวกเพิ่ม1.8 บาทต่อ กม. สรุปตัวอย่างได้ว่ากรุงเทพฯโคราช 535 บาท, กรุงเทพฯ-ปากช่อง 393 บาท, กรุงเทพฯ-อยุธยา 278 บาท-คาดว่าในปี 2564 หรือปีแรกที่เปิดดำเนินการ ผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 5,300 คนต่อวัน  คาดว่า 30 ปีข้างหน้าหรือ พ.ศ. 2594 จะมีผู้ใช้บริการ 26,800 คนต่อวัน โดยจะมีขบวนรถทั้งสิ้น 26 ขบวน ปล่อยขบวนทุก 35 นาที..-ฯลฯ
จากนี้ไป..ปฏิบัติการจริง การดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย – จีน  จะเกิดขึ้น หลังจากประชุมหารือกันมาไม่น้อยกว่า 18 ครั้ง ท่ามกลางข่าวลือต่างๆ นานา บ้างก็ว่าจีนไม่สบายใจในความจริงใจของไทย บ้างก็ว่าไทยเกรงใจจีน จึงต้องสร้าง..ฯลฯ
นาทีนี้ ”นายกฯ ลุงตู่” คงไมมีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่บอกกล่าวประเด็นต่างๆ กับประชาขนอีกแล้ว...เพราะที่แถลง ดังที่ผมยกมาตอนต้นก็ชัดเจนหลายประการ กรุงเทพฯ-โคราช เราทำเอง ไม่ตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน อย่างที่บางฝ่ายเรียกร้อง แต่ในอนาคตโคราช-หนองคาย จะตั้งบริษัทร่วมทุนหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกทีก็ได้..!!??