"สรอรรถ"เผย พท.ลงสัตยาบัน ตั้งรัฐบาลไม่จำเป็น ส.ส.อันดับ 1

2019-03-26 15:30:38

"สรอรรถ"เผย พท.ลงสัตยาบัน ตั้งรัฐบาลไม่จำเป็น ส.ส.อันดับ 1

Advertisement

"สรอรรถ" เตือน พท.ทำลืมเคยลงสัตยาบันยอมรับตั้งรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องได้ ส.ส.อันดับ 1 ระบุตั้งรัฐบาบขอให้ใจเย็นๆ การตัดสินใจ ภท.รัฐบาลต้องมีความมั่นคง ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้

เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 26 มี.ค. ที่พรรคภูมิใจไทย นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีการจับมือตั้งรัฐบาลในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ว่า ตนไม่ทราบ และทางพรรคมีมติชัดเจนว่าให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเป็นผู้ประสานการจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมด ส่วนแนวโน้มจุดยืนของ ภท.ว่าจะร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคใดนั้น ยังไม่มีความคืบหน้า อยู่ระหว่างการหารือกัน ซึ่งขณะนี้ เรามีการพูดคุยระหว่างกรรมการบริหารพรรคอยู่เป็นระยะ แต่ยังไม่ได้กำหนดท่าทีชัดเจน

เมื่อถามว่า ตอนนี้ ภท.เนื้อหอมมาก ได้รับการติดต่อจากพรรคอื่นบ้างหรือไม่ นายสรอรรถกล่าวว่า ก็ต้องขอขอบคุณ แต่ตนไม่ทราบจริงๆถึงรายละเอียดในการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ชูคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคเพื่อไทย(พท.)ชูจำนวนส.ส.เขต นายสรอรรถกล่าวว่า ตัวเลขยังไม่นิ่ง ทุกฝ่ายก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประเด็นสำคัญคือใครสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก่อนการเลือกตั้ง ตนเข้าใจว่าเคยมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในพิธีลงสัตยาบันระหว่างพรรคการเมือง ที่นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น ซึ่งตนได้ถามย้ำในที่ประชุมแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ถึงจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ใช่หรือไม่ ซึ่งทุกพรรคก็เห็นพ้องว่าใช่ รวมถึง พท. แต่ในวันนั้นไม่มี พปชร.เข้าร่วม


เมื่อถามถึงกรณีที่มีเงื่อนไขเสนอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี นายสรอรรถกล่าวว่า ขออนุญาตไม่ออกความเห็น เพราะ ภท.เคารพในมติของพรรคที่ให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมา ช่วงหาเสียงพรรคก็ประกาศว่านายอนุทินมีความพร้อมเป็นนายกฯ แต่ความเป็นจริงก็ต้องดูสถานการณ์ความเหมาะสม ความมั่นคงและเสถียรภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คะแนนค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมาแล้ว ประเด็นสำคัญคือ คนที่เป็นส.ส.ซีกรัฐบาลต้องมีวินัยในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะเวลามีการประชุมสภาฯ ก็จะต้องอยู่ประชุมให้ครบองค์ประชุม ซึ่งก็เชื่อว่าจะบริหารจัดการได้

เมื่อถามว่า หากเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ มีการมองว่า ภท.จะเป็นจุดคลายล็อก นายสรอรรถกล่าวว่า ตัวเลขก็เป็นแบบนั้น แต่การตัดสินใจมีปัจจัยหลายอย่าง คงต้องรอดูการตัดสินของหัวหน้าพรรคเมื่อถามว่า มีความรู้สึกกดดันหรือไม่ นายสรอรรถกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง ถ้าเรื่องแค่นี้รู้สึกกดดัน ก็คงไม่เล่นการเมือง ขอให้ใจเย็นๆ การตัดสินใจทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลักการและเหตุผล โดยเฉพาะรัฐบาลต้องมีความมั่นคง และประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้

ต่อข้อถามว่า หากพิจารณาจากกระแสสังคม พบว่าสนับสนุนให้ ภท.ไปทางไหนมากกว่า นายสรอรรถกล่าวว่า เราไม่ยึดติดกับกระแส แต่ยึดหลักการและเหตุผล ส่วนจุดยืนของพรรคจะมีความชัดเจนเมื่อไรนั้น เราต้องพยายามให้เร็วที่สุด แม้ว่าจะมีเวลาอีกมาก แต่การจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ต้องรอผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อน

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้เสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้เกิดการทำประชามติ ว่าประชาชนยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลโดยอ้างคะแนนนิยมหรือไม่ นายสรอรรถกล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น จะมีการเลือกตั้งทำไม และคิดว่ายิ่งทำอาจยิ่งมีปัญหา

เมื่อถามว่า ในโลกโซเชียลมีเดียมีข้อกังขาเรื่องการนับคะแนนของ กกต. นายสรอรรถกล่าวว่า โดยส่วนตัวรู้สึกเห็นใจกกต. เพราะถือเป็นการทำงานครั้งแรกของกกต.ทั้ง 7 คน ซึ่งก็ไม่เคยผ่านการจัดการเลือกตั้งมาก่อน แม้กระทั่งสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อมารับตำแหน่ง ก็มารับงานใหญ่เลย ซึ่งข้อผิดพลาดก็ต้องมีอยู่แล้ว ตนคิดว่าประเด็นที่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงนั้น บิดเบือนกันไมได้ แม้ว่าจะมีหน่วยเลือกตั้งกว่า 90,000 หน่วย แต่คะแนนทุกอย่างจบลงหลังจากนับคะแนนในแต่ละหน่วย ประมาณ 3-4 ชั่วโมงภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง ส่วนประเด็นข้อผิดพลาด ตนคิดว่าเกิดขึ้นจากการรายงานข้อมูล ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในการบันทึกข้อมูลผิด หรือการส่งต่อข้อมูลกันไปมา ทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนและเกิดความสับสน เพราะทุกคะแนนมีความหมายต่อตัวเลขของผู้ที่จะได้เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งทุกคนก็อยากให้กกต.ประกาศให้ชัดเจนว่าแต่ละเขตเลือกตั้งมีคะแนนเท่าไร ตนเข้าใจว่าวันนี้ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งคงส่งเอกสารมาที่กกต.เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าภายในวันที่ 29 มีนาคม กกต.จะประกาศตัวเลขที่ชัดเจน ครบทั้ง 90,000 กว่าหน่วย ขั้นตอนหลังจากนี้ เราต้องรอการรับรองอย่างเป็นทางการให้ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ จึงจะดำเนินการเปิดประชุมสภาได้

นายสรอรรถกล่าวถึงกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์ ส่งกลับมาไม่ทันเวลาปิดหีบเลือกตั้ง ว่า ตนเห็นว่าควรนำมานับคะแนนด้วย แม้บัตรเลือกตั้งเหล่านั้นอาจไม่ส่งผลต่อคะแนนภาพรวมมากนัก แต่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขามีความตั้งใจ เพราะการเลือกตั้งในต่างแดนนั้นมีความลำบากในการเดินทาง เพราะต้องไปใช้สิทธิที่สถานเอกอัครราชทูต