สื่อนอกเกาะติดเลือกตั้งทั่วไปในไทย ครั้งแรกหลังยึดอำนาจ

2019-03-24 08:05:59

สื่อนอกเกาะติดเลือกตั้งทั่วไปในไทย ครั้งแรกหลังยึดอำนาจ

Advertisement

สำนักข่าวต่างประเทศเกาะติดการเลือกตั้งของไทย รายงานชาวไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกว่า 51 ล้านคน จะได้ใช้สิทธิ์ครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี หลังกองทัพยึดอำนาจในปี 2557

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวไทยจำนวน 51,419,975 คน เตรียมตัวออกไปใช้สิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้งทั่วไปแล้วในวันนี้ (อาทิตย์ที่ 24 มีนาคม) ซึ่งเป็นครั้งแรก เกือบ 5 ปี หลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ที่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จากการเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนทั้งจากกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

กองทัพแถลงในขณะนั้นว่า มีความจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ประเทศ หลังการประท้วงนานหลายเดือน พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า จะคืนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยภายใน 2 ปี แต่ก็มีการประกาศเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไปจากเดิมหลายครั้ง จนในที่สุดก็กำหนดเอาวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม




การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแข่งขันกันอย่างสูสีจาก 2 กลุ่มการเมือง คือกลุ่มฝักใฝ่ประชาธิปไตย และกลุ่มที่มีกองทัพสนับสนุน โดยฝ่ายที่กองทัพสนับสนุน ดูจะได้เปรียบจากกรอบของกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ ที่เขียนขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร

ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลทหาร “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ร่วมรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการร่วมกับพรรคพลังประชารัฐที่มีกองทัพหนุนหลัง แต่ก็ยอมรับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี



ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และไร้ความปรองดอง โดยทั้งกลุ่มที่ต่อต้านและสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกยึดอำนาจ ต่างออกมาประท้วงตามท้องถนน ทำให้รัฐบาลเป็นอัมพาตบริหารประเทศไม่ได้ และเศรษฐกิจหยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม บรรดาพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรของทักษิณ ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 โดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกยึดอำนาจในปี 2557 และใน 2549 ยังได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน

ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นผู้นำพรรคและเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้มองว่า จะเสียเปรียบพรรคการเมืองที่มีกองทัพหนุนหลัง แต่พรรคเพื่อไทยก็เชื่อว่า จะสามารถได้คะแนนเสียงเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ต้องการหยุดการสืบทอดอำนาจของกองทัพ เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังคงเป็นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์สู้ศึกเลือกตั้ง และประกาศว่า จะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ด้วย