ทุ่ม 53 ล้าน! เสริมความเป็นเลิศ “ไหมแพรวากาฬสินธุ์”

2019-03-21 16:45:48

ทุ่ม 53 ล้าน! เสริมความเป็นเลิศ “ไหมแพรวากาฬสินธุ์”

Advertisement

กรมหม่อนไหม ลงนามบันทึก “ความร่วมมือโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์” เพื่อสืบสานงานหัตถศิลป์ พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง เผยทุ่มงบกว่า 53 ล้านบาท เสริมศักยภาพรอบด้านเพื่อก้าวสู่สากล

วันที่ 21 มี.ค. ที่บ้านดินสามัคคี เฮือนนาดอนออนซอนวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่นามน) รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ม.กส.) นายวิศิษฐ์ ไฝจันทร์ ผอ.สนง.หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 3 จ.ขอนแก่น ตัวแทนจากกรมหม่อนไหม ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ โดยมีเจตจำนงร่วมกันที่จะสืบสานงานทอผ้าไหมแพรวาและสิ่งทอพื้นเมืองซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนกาฬสินธุ์ โดยทุ่มงบประมาณกว่า 53 ล้านบาท ทั้งการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ โรงเลี้ยงไหม การปลูกหม่อนทั้งระบบ กี่ทอผ้า รวมถึงการด้านองค์ความรู้ที่จะต้องจัดทำควบคู่กับงานวิจัย เพื่อพัฒนางานสิ่งทอให้ก้าวไปสู่ระดับสากล

รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ม.กส.) กล่าวว่า ผ้าไหมแพรวาถือเป็นหนึ่งเดียวในงานหัตถศิลป์ของชาวกาฬสินธุ์ ทรงคุณค่าด้วยความวิจิตรงดงาม และเมื่อสืบถึงขั้นตอนผลิตจะทราบว่าการทอผ้าไหมแพรวาที่จะต้องทอมือทั้งผืน และยังมีความลึกซึ้งจากลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์บนผืนผ้าล้วนมีความหมาย นอกจากนี้ผ้าไหมแพรวายังเป็นสินค้าที่สร้างเม็ดเงินให้กับกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวาปีละหลายสิบล้าน แต่คนทอผ้าไหมแพรวาส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและผู้สูงวัย รวมทั้งคุณภาพของไหม สีย้อมเป็นปัจจัยหลักที่จะพัฒนางานหัตถศิลป์ไหมแพรวาให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น และโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมหม่อนไหม และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จะช่วยเติมเต็มทักษะ ความรู้ และมีผลงานวิชาการรองรับมากยิ่งขึ้น




ด้านนายวิศิษฐ์ ไฝจันทร์ ผอ.สนง.หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 3 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า กรมหม่อนไหม พร้อมที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในการ.พัฒนาต่อยอดงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ เชื่อมั่นว่าผ้าไหมแพรวาจากนี้ไปจะมีมาตรฐานและได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะมาตรฐานตรานกยูงทองพระราชทาน ที่กรมหม่อนไหมรับผิดชอบ และทราบว่า 25 กลุ่มทอผ้าไหมในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่จะได้เข้าสู่กระบวนการประเมิน อย่างไรก็ตามทางกรมหม่อนไหมจะเน้นการส่งเสริมการย้อมสีธรรมชาติมากกว่าการย้อมสีเคมี พร้อมกับส่งเสริมให้ปลูกพันธุ์ไม้ทดแทนควบคู่ไปด้วย โดยกำหนดระยะเวลา 5 ปี ทางกรมหม่อนไหมจะให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ที่จะเป็นประโยชน์ระยะยาวสำหรับชาวบ้าน กลุ่มอาชีพ และเยาวชนที่รักษ์ผ้าไทย