เช้าวันจันทร์ที่ 10
ก.ค.ได้สัมภาษณ์ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
(ตำรวจ) ผ่านรายการ “คุยเคาะเจาะข่าว” ของนิว18 ถึงแม้ความคาดหวังในเชิงบวกไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ทำให้มั่นใจว่า..สิ่งที่ได้เขียนไปเมื่อวันก่อนว่าการปฏิรูปตำรวจรอบนี้จะไม่ถึงกับล้มเหลวแบบเมื่อปี
2550 หลังการรัฐประหารโดย คมช.นั้นน่าจะถูกต้อง
อย่างน้อยๆ ก็จะได้อะไรติดไม้ติดมือมาบ้าง...
พล.อ.บุญสร้าง ตอบคำถามของผม-คุณเสริมสุขและคุณประจักษ์ในรายการว่า
ทั้งปัญหาด้านโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ประเด็นงานสอบสวน และปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม จะทำไปพร้อมๆ กัน และเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยจะมีสิ่งที่จะสำเร็จเป็นรูปธรรมเพราะรอบนี้เป็นการทำงานภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และคาดว่าสิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงภายใน 1 ปีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญมาตรา
2560 ก็คือ...การแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งจะไม่ไปแตะต้องกับคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่ออกมาแล้ว..
ส่วนประเด็นอื่นๆ
พล.อ.บุญสร้าง ยังไม่รับประกันหรือการันตีว่าจะสำเร็จสักกี่มากน้อย..
“อย่าไปติดยึดกับตัวเลขครับ จะ 2-3-4 หรืออะไรก็ปรับเปลี่ยนได้ครับ ทำไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์” อดีต ผบ.สูงสุดตอบคำถามที่ว่าสูตร 2-3-4 จะปรับเปลี่ยนเป็น 4-3-2 ตามข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) หรือ Police Watch ได้ไหม คือให้ศึกษาผลศึกษาต่างๆพร้อมรับฟังความเห็นประชาชน 4 เดือน, จัดทำปรับปรุงกฎหมายฉบับต่างๆ 3 เดือน และ รับฟัง-ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 เดือน..
สุดท้าย พล.อ.บุญสร้าง บอกว่าแม้จะเป็นทหารเป็นอดีต ผบ.สูงสุด แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าปฏิรูปแล้วตำรวจจะกลายเป็นทหาร เพราะภารกิจ ภาระหน้าที่คนละแบบคนละอย่าง แต่ไม่ปฏิเสธว่า หลักนิยม, ค่านิยมดีๆ ของกองทัพก็อาจจะนำมาปรับใช้บ้าง..โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3-4 ชุด
“เอาเป็นว่าผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” พล.อ.บุญสร้าง ประกาศในตอนหนึ่ง ซึ่งก็คงจะต้องตามไปดูว่าการประชุมนัดแรกของ 36 อรหันต์ในวันที่ 12 ก.ค.นั้นเป็นอย่างไร
ในขณะทีอีกด้านหนึ่ง..สุเทพ เทือกสุบรรรณ ประธานมูลนิธิมวลมมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย อดีตแกนนำ กปปส.ประกาศกลางงานบุญในวันคล้ายวันเกิด 7 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและเสนอการปฏิรูปตำรวจภาคประชาชนขึ้นมาชุดหนึ่งทำงานคู่ขนานกับชุดของรัฐบาล และจะได้ทยอยนำข้อเสนอให้ พล.อ.บุญสร้าง..เป็นระยะๆ
แต่สำหรับอดีตแกนนำ กปปส.อย่าง วิทยา แก้วภราดัย ที่ตำรวจเพิ่งถูกตำรวจแจ้งความในข้อหา ”หมิ่นประมาท” เมื่อสัปดาห์ก่อน ยังคงยืนหยัดในข้อเสนอของตัวเองว่า รัฐบาลต้องใช้มาตรา 44 ยุติคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายชุดล่าสุดที่เต็มไปด้วยข้อครหาซื้อขายตำแหน่งเสียก่อน แล้วค่อยเดินหน้าปฏิรูป...
ความคิด-ข้อเสนอของวิทยาค่อนข้างเป็นรูปธรรมและท้าทายในเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ ให้ลดขนาดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงด้วยการโอนภารกิจที่ไม่ได้เป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรงไปยังกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง แล้วโอนกลับบ้านเดิมคือ..กระทรวงมหาดไทย นำไปสู่ความเป็น..ตำรวจจังหวัด อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้ปรารภความคิดเอาไว้..
และที่ต้องจับตามองกันต่อไปอีกหนึ่งองค์กรที่จะสัมมนาหาข้อเสนอใส่แฟ้มของ 36 อรหันต์ กรรมการปฏิรูปก็คือกลุ่ม คป.ตร.ที่เน้นย้ำเรื่องการกระจายอำนาจกับแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระ พวกเขาจะโหมโรงระดมความคิดกันครั้งใหญ่ในวันที่ 15 ก.ค.ที่ ม.รังสิต
ไม่นับรวมข้อเสนอที่ คณะของ สตช.ที่นำโดย พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร.ซึ่งรับบทเป็นเลขานุการของคณะกรรมการฯ นั้นข้อเสนอ 6 ด้านก็นอนเรียงอยู่ในแฟ้มเรียบร้อยแล้ว..
บทสรุป ณ นาทีนี้ต้องกล่าวว่า การออกจากจุดสตาร์ตของการปฏิรูปตำรวจรอบนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศที่ค่อนข้างสร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะ ไม่มุ่งเอาชนะคะคานกันแบบสุดโต่ง..ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้นทุนของรัฐบาล คสช. ของผู้นำ คสช.อย่าง ”บิ๊กตู่” ที่สังคมยังให้โอกาส รวมทั้งต้นทุน ท่วงทำนองของ พล.อ.บุญสร้าง ที่มีดีกรีเป็นถึง “ด็อกเตอร์”
เหนืออื่นใดแทบทุกฝ่ายอยากประคับประคองให้การปฏิรูปตำรวจ..เป็นจริง สักครั้ง...
ไม่มีใครกล้าล้มโต๊ะแน่นอน..เว้นเสียแต่จะเกิดการล้มมวยของคณะกรรมการในตอนท้ายๆ..แต่ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น!!