ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยคุณสมบัติหัวหน้า คสช.ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยที่ประชุมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันเห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเบื้องต้นว่า 1.คำร้องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าคำร้องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
2.กรณีร้องเรียนว่าพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีลักษณะต้องห้ามมิให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 วงเล็บ 15 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยวินิจฉัยว่า คำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ต้องมีลักษณะ1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ หรือปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำ 3. อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือนค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย โดยพล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายเพียงแค่ 2 องค์ประกอบ คือ ข้อ 2. และข้อ 4. แต่เมื่อวินิจฉัยแล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ หรือหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่เงินเดือนดังกล่าว ได้มาจากการ ได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งมิใช่เป็นการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ อันเป็นการเข้ามาควบคุม อำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรืออำนาจงาน ทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช จึงมิได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดังที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้าง
นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ร้องเรียนว่า กกต ประกาศรับรองรายชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเห็นแล้วว่าพล.อ.ประยุทธ์ มิได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐดังที่ได้พิจารณามาแล้วข้างต้นกกต. จึงสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ไม่มีเหตุให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะต้องเสนอเรื่องขอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยหลังจากนี้ จะแจ้งให้กับผู้ร้องทราบต่อไป