ตะลึง! พบ “ถ้ำใต้ภูเขา” น้ำไหลผ่านคล้ายถ้ำหลวง

2019-03-12 17:55:39

ตะลึง! พบ “ถ้ำใต้ภูเขา”  น้ำไหลผ่านคล้ายถ้ำหลวง

Advertisement

เจ้าหน้าที่ขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ ตื่นตะลึง พบโพรงคล้ายถ้ำขนาดใหญ่ใต้ภูเขาสูง 800 เมตร พบแหล่งน้ำใต้ดินมีแรงดันสูง และน้ำไหลประมาณ 500 ลิตรต่อวินาที เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พบเจอถ้ำใต้ภูเขาขณะขุดเพื่อทำอุโมงค์ เชื่อว่าคล้ายถ้ำนางนอน เพราะมีน้ำไหลผ่านใต้ดินหลายเส้นทาง

วันที่ 12 มี.ค. นายจิตะพล รอดพลอย ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 เปิดเผยว่า จ.เชียงใหม่ มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ด้านการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด และแม่งัด - แม่กวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ก็ดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ล่าสุดที่ได้รับรายงานจากทางเจ้าหน้าที่ของบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด ซึ่งได้ใช้วิธีการเจาะด้วยหัวเจาะอุโมงค์ TBM ทำการเจาะที่บ้านห้วยหินฝน ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อทำการขุดเจาะผ่านอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 2 ระยะทางทั้งหมด 9.4 กม.ขณะนี้ได้ขุดเจาะไปได้ประมาณ 1.5 กม. จนถึงบริเวณ กม.11+674.960 ซึ่งต้องหยุดชะงักลงกะทันหัน เนื่องจากพบว่า สภาพธรณีวิทยาหลังจากที่ขุดไปได้เจอโพรงขนาดใหญ่คล้ายกับถ้ำ ขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 50 เมตร และสูงประมาณ 20 เมตร ซึ่งอยู่ใต้ภูเขาที่สูงประมาณ 800 เมตร นอกจากการพบโพรงคล้ายถ้ำทำให้ต้องหยุดการขุดเจาะ เพื่อประเมินสภาพธรณีวิทยาและปรับปรุงเส้นทางในการขุดเจาะแล้ว ยังพบน้ำใต้ดินที่มีแรงดันสูง มีอัตราการไหลของน้ำประมาณ 500 ลิตรต่อวินาที ถือว่าเยอะมาก

นายจิตะพล กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราการไหลของน้ำดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เส้นทางนี้อาจจะคล้ายกับถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เพราะสภาพของพื้นดินใต้ภูเขา น่าจะมีเส้นทางน้ำไหลมาจากจุดต่างๆ โดยที่ไม่มีใครทราบ ซึ่งขุนน้ำนางนอน ก็เช่นกัน เป็นโพรงถ้ำที่อยู่ใต้ภูเขา และมีเส้นทางน้ำไหลมาจากหลายจุด แต่โชคดีที่ทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เมื่อพบเจอโพรงถ้ำและเจอแรงดันน้ำดังกล่าว ก็ได้รีบหยุดปฏิบัติงานทันที จึงทำให้ไม่เกิดความเสียหายหรือมีผู้บาดเจ็บใดๆ และถือเป็นกรณีที่น่าศึกษาอย่างมาก เพราะลักษณะที่ขุดไปแล้วเจอถ้ำแบบนี้ใต้ภูเขาถือว่ามีไม่มาก และภูมิประเทศแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน ถือว่าเป็นตัวอย่างในการศึกษา สำหรับการขุดเจาะอุโมงค์และสภาพธรณีวิทยาได้อย่างดี




สำหรับแนวทางการแก้ไขในด้านการขุดเจาะนั้น ขณะนี้ด้านการดำเนินงาน ก็ได้ขุดเจาะเพื่อสร้างเส้นทางบายพาส ตัดอ้อมเข้าไปแทนการใช้หัวเจาะ TBM เพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยการนำส่งอุปกรณ์เข้าไปปรับพื้นผิว ปรับสภาพโพรงถ้ำให้อยู่ในความแข็งแรงปลอดภัย จนหัวเจาะสามารถเข้าไปทำงานได้ตามปกติ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะสภาพที่เจาะผ่านเข้าไปนั้นชั้นหินเป็นหินแกรนิต และยังมีสภาพพื้นที่แคบ ชั้นหินมีการสลับสูงต่ำ อากาศเบาบาง จึงต้องใช้พัดลมดูดอากาศเข้าไปช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน เชื่อว่าการขุดเจาะและปรับเส้นทางนั้น อาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน จากนั้นก็จะประเมินด้านความปลอดภัย เพื่อขุดเจาะโดยใช้หัวเจาะ TBM ตามปกติ