108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: ผ่าตัดแผลเล็กดีอย่างไร

2017-07-05 14:00:11

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: ผ่าตัดแผลเล็กดีอย่างไร

Advertisement

ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัด หลายคนคงอาจกลัวและกังวลใจในวิธีการผ่าตัด ขั้นตอนการผ่าตัด กังวลภายหลังการผ่าตัด กังวลใจเรื่องแผลจากการผ่าตัดกันไม่มากก็น้อย 
ที่ผ่านมาการผ่าตัดในวงการแพทย์ทั่วโลกได้มีการพัฒนารูปแบบการผ่าตัด และขั้นตอนในการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการผ่าตัดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) 




การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) หรือ การผ่าตัดแบบรุนแรงน้อย เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะรูที่ทำให้เกิดแผลภายนอกขนาดเล็ก โดยมีการนำอุปกรณ์เข้าช่วยในการผ่าตัด อาทิ การใช้กล้อง อุปกรณ์แบบต่าง ๆ และการใช้แก๊ส ซึ่งนิยมทำอยู่ 2 แบบหลักคือ การผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) กับ การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Surgery) นอกจากนี้ยังอาจรวมไปถึงการผ่าตัดผ่านกล้อง (Endoscopic Surgery) แบบต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากแผลการผ่าตัดลงได้มาก


การผ่าตัดแผลเล็ก ช่วยในการผ่าตัดช่องอกและช่องท้องที่มีจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ในบางครั้งก็ยังจำเป็นจะต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐานหรือการผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้าง ซึ่งเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าแบบแผลใหญ่  ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการผ่าตัดแผลเล็กเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องตัด หรือแก้ไขสิ่งผิดปกติของอวัยวะภายในช่วงลำตัวและช่องท้อง โดยที่สามารถนำชิ้นส่วนของอวัยวะนั้นออกมาได้ผ่านแผลขนาดเล็กๆ ซึ่งการผ่าตัดจะใช้การเจาะรูโดยจำนวนรูขึ้นกับความซับซ้อนของการผ่าตัด  ในรูแผลแต่ละรูจะทำการใส่เครื่องมือผ่าตัด ใส่กล้องสำหรับส่อง รูสำหรับผู้ช่วยผ่าตัด รูแผลเหล่านี้จะช่วยทำให้แผลผ่าตัดข้างนอกเล็กลง 
หนึ่งในขั้นตอนการผ่าตัดแผลเล็ก ศัลยแพทย์จะทำการใส่แก๊สเข้าไปเพื่อขยายพื้นที่ภายในระหว่างการผ่าตัด ทำให้สามารถทำการผ่าตัดชิ้นส่วนอวัยวะออกได้ง่าย นอกจากนี้ การผ่าตัดแผลเล็กยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังจากการผ่าตัดลง เนื่องด้วยแผลผ่าตัดที่เล็กกว่า ทำให้เสียเลือดน้อย เจ็บน้อยลง ทำให้ขยับตัวได้เร็วเป็นผลให้การทำงานของลำไส้ ปอด และส่วนต่าง ๆของร่างกายกลับมาทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดพังผืดที่แผลผ่าตัดน้อยกว่าซึ่งในอนาคตถ้าจำเป็นต้องทำการผ่าตัดครั้งต่อไปจะทำได้ไม่ยากมาก





แม้ว่าบางครั้งการผ่าตัดบางอย่างจะมีแผลขนาดเล็กอยู่แล้ว เช่น หากทำการผ่าตัดไส้ติ่งโดยทั่วไป ขนาดของแผลก็ราว 3-4 เซนติเมตร แต่หากใช้วิธีการผ่าตัดแผลเล็ก แม้จะทำให้เกิดแผลหลายแผล แต่มีความเจ็บจากแผลน้อยกว่า เพราะแผลอยู่กระจายกัน ไม่ได้อยู่รวมจุดเดียว นอกจากนี้การผ่าตัดแบบแผลเล็กยังช่วยซ่อนรอยแผลผ่าตัดไว้ที่ต่างกัน ทำให้เห็นรอยแผลเป็นน้อยลงได้
วงการแพทย์ทั่วโลกให้การยอมรับว่า การผ่าตัดแผลเล็กนั้นมีผลการรักษาไม่ได้ด้อยกว่าการผ่าตัดแผลใหญ่ แต่การผ่าตัดแผลเล็กก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งที่ซับซ้อนจำเป็นต้องตัดอวัยวะหลายอย่างร่วมกัน หรือศัลยแพทย์มีความจำเป็นต้องตัดส่วนมะเร็งจากหลายอวัยวะในครั้งเดียวกัน การใช้วิธีการผ่าตัดแผลเล็กก็จะทำได้ยากขึ้นและใช้เวลานาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอัตราค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่สูงกว่าการผ่าตัดแผลใหญ่ เนื่องด้วยมีการใช้อุปกรณ์ที่ยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่มีความปลอดภัย ซึ่งในอนาคตคาดว่าการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การผ่าตัดแผลเล็กจะมีประโยชน์มากในการผ่าตัดช่องอกและช่องท้อง เพราะเป็นส่วนอวัยวะที่ใหญ่และทำให้เคลื่อนไหวยาก การผ่าตัดแผลเล็กจึงเข้ามาช่วยทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ มีความปลอดภัย มีแผลเล็ก เจ็บแผลน้อยลง ภาวะแทรกซ้อนก็ลงน้อยลงอีกด้วย 





ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขา ศัลยศาสตร์ทั่วไป และ ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล