ย้อนประวัติ "แคชเมียร์" ชนวนศึกภารตะ!

2019-02-28 13:15:03

ย้อนประวัติ "แคชเมียร์"  ชนวนศึกภารตะ!

Advertisement

อินเดียและปากีสถานทำสงครามกันแล้ว 2 ครั้งเกี่ยวกับข้อพิพาทแคชเมียร์ และทั้งสองชาติยังครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย แต่ทำไมอินเดียและปากีสถานจึงขัดแย้งกันเรื่องนี้!?

ก่อนที่อินเดียและปากีสถานจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในเดือน ส.ค. 1947 ทั้งสองฝ่ายต่างก็แย่งกันครอบครองแคชเมียร์อยู่แล้ว ภายใต้แผนการแบ่งประเทศตามกฎหมายเอกราชอินเดีย แคชเมียร์มีอิสระในการเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน 

มหาราชา ฮารี ซิงห์ ผู้ปกครองแคชเมียร์ เลือกอินเดีย และสงครามที่ยาวนาน 2 ปี ก็ปะทุขึ้นในปี 1947 แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาสงครามครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1965 ส่วนในปี 1999 อินเดียได้ต่อสู้กับกองกำลังที่ปากีสถานสนับสนุนเป็นช่วงสั้น ๆ และในช่วงนั้น อินเดียและปากีสถาน ต่างก็ประกาศว่า ตัวเองเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ 




ขณะที่ผู้คนจำนวนมากในดินแดนแคชเมียร์ ไม่ต้องการให้อินเดียปกครอง แต่อยากจะเป็นเอกราชหรือไม่ก็เข้าร่วมกับปากีสถาน โดยประชากรในรัฐจัมมูร์และแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียปกครองอยู่ นับถือศาสนาอิสลามกว่า 60% ทำให้รัฐนี้กลายเป็นรัฐเดียวในอินเดียที่มีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ 

อัตราการว่างงานที่สูง และการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กองกำลังความมั่นคงกระทำต่อผู้ประท้วง ทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรง!   

ความรุนแรงในรัฐนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1989 แต่ความรุนแรงระลอกใหม่เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของบูร์ฮัน วานี ผู้นำกลุ่มติดอาวุธวัย 22 ปี เมื่อเดือน ก.ค. 2559 เขาเสียชีวิตจากการต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคง ทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาค หลังจากงานศพ ผู้คนได้ปะทะกับทหารและเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตนานหลายวัน มีพลเรือนเสียชีวิตกว่า 30 คน และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันหลายครั้ง นับจากนั้นความรุนแรงก็เพิ่มสูงขึ้นในรัฐนี้ 




ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน ทั้งพลเรือน, กองกำลังความมั่นคง และสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ ถือเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในรอบ 10 ปี! 

อินเดียและปากีสถาน ตกลงหยุดยิงในปี 2003 หลังจากเกิดเหตุนองเลือดนานหลายปีในพื้นที่ตามแนวพรมแดน ต่อมา ปากีสถานรับปากว่าจะหยุดสนับสนุนด้านการเงินให้แก่กลุ่มติดอาวุธในปากีสถาน ขณะที่อินเดียก็เสนอที่จะนิรโทษกรรมให้แก่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธ ถ้าพวกเขาเลิกการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ 

จากนั้นในปี 2014 รัฐบาลใหม่ของอินเดียได้ขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งรับปากว่า จะจัดการปัญหากับปากีสถานอย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็แสดงความสนใจที่จะจัดการเจรจาสันติภาพ โดยนายกรัฐมนตรีของปากีสถานและอินเดีย รับปากว่าจะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในปี 2014 



แต่ 1 ปีต่อมา อินเดียก็กล่าวหากลุ่มที่อยู่ในปากีสถานหลายกลุ่มว่า ก่อเหตุโจมตีฐานทัพอากาศในเมืองปาทานโคต ในรัฐปัญจาบทางตอนเหนือ นายโมดียังได้ยกเลิกการเดินทางเยือนกรุงอิสลามาบัดของปากีสถาน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคในปี 2017 ด้วย นับจากนั้นการเจรจากันระหว่างทั้งสองประเทศก็ไม่มีความคืบหน้าอีกเลย 

การประท้วงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วงฤดูร้อนในแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดียในปี 2016 ทำให้ความหวังว่าจะเกิดสันติภาพในภูมิภาคนี้ริบหรี่ลง จากนั้นเดือน มิ.ย. 2018 พรรคภราติยะ ชนะตะ หรือ บีเจพี ของนายโมดี ก็ได้ถอน ตัวออกจากรัฐบาลผสมที่บริหารโดยพรรคพีเพิลส์เดโมแครติก นับจากนั้นรัฐจัมมูร์และแคชเมียร์จึงอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของรัฐบาลอินเดีย ทำให้ผู้คนยิ่งไม่พอใจเพิ่มมากขึ้นไปอีก 

การเสียชีวิตของทหารอินเดียกว่า 40 นายเมื่อวันที่ 14 ก.พ. จากการโจมตีด้วยการฆ่าตัวตาย ทำให้ความหวังว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้สิ้นสุดลง อินเดียกล่าวหากลุ่มติดอาวุธในปากีสถานหลายกลุ่มว่า เป็นผู้ก่อเหตุโจมตีครั้งนี้ ซึ่งทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตมากที่สุดในแคชเมียร์ นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบมาเมื่อ 30 ปีก่อน 

หลังจากเหตุวางระเบิด อินเดียบอกว่า จะใช้ "มาตรการทางการทูตทุกอย่างเท่าที่จะทำได้" ในการโดดเดี่ยวปากีสถาน จากประชาคมโลก กระทั่งวันที่ 26 ก.พ. อินเดียได้โจมตีทางอากาศในดินแดนของปากีสถาน ซึ่งอินเดียระบุว่า พุ่งเป้าโจมตีฐานทัพของกลุ่มติดอาวุธ 



ปากีสถานระบุว่า การโจมตีดังกล่าวไม่ได้สร้างความเสียหายที่สำคัญ หรือทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็ยืนยันว่า จะตอบโต้ ทำให้เกิดความกังวลว่า จะเกิดการเผชิญหน้ากันขึ้น หนึ่งวันต่อมา ปากีสถานระบุว่า ได้ยิงเครื่องบินของกองทัพอากาศของอินเดียตก 2 ลำ ในน่านฟ้าของปากีสถาน หลังจากเครื่องบินปากีสถานโจมตีเป้าหมายหลายเป้าหมายในดินแดนของอินเดีย