ผลวิจัยชี้พระสงฆ์ กทม.และเขตเมืองอ้วนลงพุงถึง
48% เหตุฉันอาหารโปรตีนต่ำไขมันสูง ออกกำลังกายน้อยเพราะกลัวผิดพระธรรมวินัย
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. มีการแถลงข่าว “สงฆ์ไทยไกลโรค เข้าพรรษานี้
อย่าลืมตักบาตร ถาม(สุขภาพ)พระ” โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช
ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ
(สสส.) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในกทม.และในภาคอีสานพบว่า พระสงฆ์ใน กทม.และในเขตเมืองกว่าครึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน
โดยพระสงฆ์ใน กทม. 48%
ของกลุ่มตัวอย่างมีภาวะอ้วนลงพุงมากกว่าชายใน กทม. (39%) และชายทั่วประเทศ (28%) ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน
ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง และจากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในภาคอีสาน พบว่า
พระสงฆ์ในเขตเมืองเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าในเขตนอกเมือง
สาเหตุสำคัญมาจากอาหารใส่บาตรที่มีโปรตีนต่ำไขมันสูงหรือได้รับเพียง 60% ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ ปริมาณใยอาหารมีระดับต่ำ
จึงชดเชยด้วยการดื่มน้ำปานะที่มีน้ำตาลสูงถึง 7 ช้อนชาต่อวัน
รศ.ดร.ภญ.จงจิตร
กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลฝั่งฆราวาสพบว่า
อาหารส่วนใหญ่ในการถวายพระมาจากการซื้ออาหารชุดใส่บาตร โดยมีหลักการเลือกอาหารคือ
ความสะดวกและราคา เลือกเมนูที่ผู้ล่วงลับชอบบริโภค ซึ่งเมนูหลักที่แม่ค้านิยม เช่น
ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน หมูทอด และขนมหวาน
ทำให้พระสงฆ์จำเป็นต้องฉันเพื่อให้ญาติโยมได้บุญ ไม่เสียศรัทธา นอกจากนี้ยังพบว่า
พระสงฆ์ออกกำลังกายน้อยเพราะกลัวผิดพระธรรมวินัย โดยพบว่า ใน 1 วัน พระสงฆ์เดินเบาประมาณ 30 นาที ซึ่งน้อยกว่าชายไทยที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100 นาที
พระราชวรมุนี
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า แม้อาหารบิณฑบาตจะเลือกไม่ได้
แต่สามารถพิจารณาฉันอาหารที่ดีต่อร่างกายตนได้ โดยพระธรรมวินัย
พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันอาหารพอสมควร และพระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาส
เพราะต้องประพฤติตนสำรวม แต่มีหลักกิจวัตร 10 ประการ ที่พระพุทธเจ้าอนุญาต เช่น การเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด
ทำความสะอาดวัด เดินจงกลม ตัดต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ เพื่อขยับร่างกาย
รวมถึงแกว่งแขนลดพุงลดโรคซึ่งทำได้ในพื้นที่วัด