เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตลูกเต่ามะเฟืองจากหลุมฟัก ก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล
หลังจากที่เต่ามะเฟืองได้กลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้งในรอบ 5 ปี ของประเทศไทย โดยรังแรกแม่เต่ามะเฟืองได้ขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา จากนั้นจึงกลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้งบริเวณหาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2561 และกลับขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดคึกคักเป็นรังที่ 3 ในวันที่ 8 ม.ค.2562 โดยไข่เต่ารังแรกสามารถฟักเป็นตัวและคลานลงสู่ทะเลได้จำนวน 48 ตัว โดยใช้ระยะเวลาในการฟักทั้งสิ้น 56 วัน
กระทั่งเวลา 14.00 น. วันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันที่ 59 ของหลุมฟักเต่ามะเฟืองที่ 2 อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เจ้าหน้าที่พบทรายบริเวณปากหลุมฟักเริ่มมีการยุบตัว ซึ่งเป็นสัญญาณว่าลูกเต่ามะเฟืองเริ่มขึ้นมาบริเวณใกล้ปากหลุม เพื่อรอที่จะลงสู่ทะเล นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล นายปรารภ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต นายสุริยะ สอนเสริม หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 16 (ตะกั่วป่า พังงา) นายสุนทร วิมาน นายก อบต.นาเตย พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่สำนักบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 เจ้าหน้าที่ อบต.นาเตย ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การฟักตัวของเต่ามะเฟือง และซักซ้อมแผนในการดูแลประชาชนกว่า 100 คน ที่เดินทางมาเฝ้าชมวินาทีที่ลูกเต่ามะเฟืองจะโผล่ขึ้นมาบนผิวทรายและคลานลงสู่ทะเล ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องทำการคุมเข้มเรื่องการใช้แสงไฟในการส่องเข้าไปบริเวณลูกเต่า รวมถึงต้องมีการกั้นอาณาเขต พร้อมทั้งปรับพื้นทรายเพื่อให้ลูกเต่าสามารถเดินลงสู่ทะเลได้อย่างสะดวก

ล่าสุด เวลา 02.00 น. ของวันนี้ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่ 60 ของการฟักไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 2 ผ่านไป 12 ชั่วโมงลูกเต่าตัวแรกก็ยังไม่ออกมาจากหลุมฟัก เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองขึ้นมา โดยพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ทั้งหมด จำนวน 86 ฟอง มีไข่เต่ามะเฟืองที่ไม่ได้รับการผสม จำนวน 31 ฟอง และเป็นไข่ที่ไม่มีไข่แดง(ไข่ลม) จำนวน 20 ฟอง สามารถฟักเป็นลูกเต่าได้จำนวน 35 ตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยลงสู่ทะเล จำนวน 34 ตัว มีลูกเต่ามะเฟืองที่จำเป็นต้องนำกลับไปอนุบาลที่ ศวทม. จำนวน 1 ตัว