กรมสุขภาพจิตแนะใช้ “ปิยวาจา”ลดขัดแย้งทางการเมือง

2019-02-19 09:25:50

กรมสุขภาพจิตแนะใช้ “ปิยวาจา”ลดขัดแย้งทางการเมือง

Advertisement

กรมสุขภาพจิต ห่วงความเห็นต่างทางการเมือง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว และการสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิด ชี้ความเห็นต่าง เป็นความปกติของมนุษย์ เชิญชวนประเมินอารมณ์ตนเอง และคนรอบข้างเพื่อชะลอความเครียดและความขัดแย้ง แนะใช้ “ปิยวาจา” ในการสื่อสารระหว่างกัน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต มีความเป็นห่วงว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองในขณะนี้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว และการสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิด จากความพยายามที่จะยัดเยียดให้ทุกคนคิดเหมือนตัวเอง ทั้งที่ในความเป็นปกติของมนุษย์ย่อมมีความเห็นต่าง ซึ่งทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะใด พ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ควรให้เกียรติและเคารพในความคิดของกันและกัน ถ้าเกิดความเห็นที่แตกต่างกัน ต้องมีสติ และต้องประคับประคองความเป็นครอบครัว และความสัมพันธ์ไว้ก่อน ต้องประเมินความสามารถในการเปิดรับของอีกฝ่าย อย่ายัดเยียดให้อีกฝ่ายยอมรับโดยไม่สมัครใจ ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ คุย โดยเลือกพูด ในโอกาส และเวลาที่เหมาะสม

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ขอเชิญชวนทุกคน มาประเมินความเข้มของอารมณ์ตนเองและคนรอบข้าง เพื่อชะลอความเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรู้เท่าทันจิตใจกัน โดยประเมินว่าในช่วงที่ผ่านมา เรามีความรู้สึกต่อไปนี้อย่างไร

1. ฉันมักอารมณ์เสียเวลาคุยเรื่องการเมือง ( ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)

2. เวลาคนพูดเรื่องการเมืองที่ฉันไม่เห็นด้วย ฉันอดไม่ได้ต้องเถียงเสมอ ( ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)

3. ฉันหมกมุ่นเรื่องการเมือง จนลืมเรื่องบ้านฉัน ( ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)

4. ฉันกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับประเทศไทยตลอดเวลา ( ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)

5. ฉันมักจะพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดเห็นทางการเมืองของฉันเสมอ ( ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)

เมื่อประเมินแล้ว ก็ให้คะแนน และแปลผลดังนี้ ตอบว่า ใช่ = 2 คะแนน, ไม่แน่ใจ = 1 คะแนน, ไม่ใช่ = 0 คะแนน เสร็จแล้ว รวมคะแนนที่ได้ทั้งหมดแล้วอ่านผลประเมิน ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ได้คะแนน 0-2 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองปกติ คือเป็นผู้ที่เปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และตระหนักเพียงว่าเป็นความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจไม่ตรงกันได้

กลุ่มที่ 2 ได้คะแนน 3-5 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง มีจุดยืน และรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะเครียดและเกิดความขัดแย้ง กับผู้อื่นได้ถ้าหมกมุ่นมากเกินไป จึงควรหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ไปท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายบ้าง

กลุ่มที่ 3 ได้คะแนน 6-10 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง มีความเสี่ยง ต่อความเครียดและขัดแย้งกับผู้อื่นสูงจึงไม่ควรเปิดรับสื่อที่นำเสนอเรื่องความ ขัดแย้งทางการเมืองทั้งวัน หากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง และหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานการณ์หรือกับบุคคลที่มีความคิดรุนแรง

“ความเข้าใจ และการยอมรับความเห็นซึ่งกันและกันเป็นที่ตั้งสำคัญในความสัมพันธ์ของบุคคล จึงไม่ควรเพ่งแต่เรื่องการเมือง จนหลงลืมรักษาความสัมพันธ์กันในครอบครัว และคนใกล้ชิด" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว