“อนาคตใหม่”ชู “ประเทศกูมี”สู้ “หนักแผ่นดิน”

2019-02-18 18:20:56

“อนาคตใหม่”ชู “ประเทศกูมี”สู้ “หนักแผ่นดิน”

Advertisement

โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ติง ผบ.ทบ. ไล่ให้พรรคการเมืองมีแนวคิดหั่นงบกองทัพไปฟัง “เพลงหนักแผ่นดิน” สะท้อนความจำเป็นต้องปฏิรูป ลั่นไม่มีใครหนักแผ่นดิน ยกเว้นงบประมาณกองทัพเป็นภาระแผ่นดินมากเกินความจำเป็น ชี้เพลงหนักแผ่นดินเชยไปแล้ว ถ้าอยากฟังเพลงที่ทันสมัยควรฟัง “เพลงประเทศกูมี” ด้าน "พล.ท.พงศกร" โพสต์จี้หยุดแทรกแซง เผยแนวทางสร้างกองทัพศตวรรษที่ 21

จากกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. มีท่าทีต่อการที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปรับลดงบประมาณกลาโหม โดยไล่ให้ไปฟัง "เพลงหนักแผ่นดิน" นั้น

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า การที่กองทัพแสดงท่าทีอย่างนี้ ยิ่งมีเหตุผลจำเป็นมาก ว่าจะต้องมีการปฏิรูปกองทัพตามที่พรรคอนาคตใหม่ได้เคยเสนอนโยบายไปแล้ว สร้างระบบเสนาธิการร่วมให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ เนื่องจากที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้กองทัพจะบอกว่าต้องวางเป็นกลาง แต่หลายครั้ง เช่น ก่อนหน้านี้ที่สั่งให้กำลังพลสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สานงานต่อเพื่อไม่ให้การบริหารประเทศช่วงที่ผ่านมาเสียของ รวมทั้งในครั้งนี้ ชัดเจนว่า กองทัพไม่ได้วางตัวอย่างที่พูด ยังคงพยายามใช้อำนาจกดดันพรรคการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ และอาจจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองตลอดมา ซึ่งแน่นอนว่าที่เลวร้ายที่สุดนั้นก็คือการเปิดทางสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ

“ไม่มีใครหนักแผ่นดิน ทุกคนหนักเท่ากันบนแผ่นดินนี้ ทำงานจ่ายภาษีเหมือนๆกัน แต่ที่เรารู้แน่ๆ คือ งบประมาณกองทัพหนักและเป็นภาระแผ่นดินมากเกินความจำเป็น เวลานี้เพลงหนักแผ่นดินถือว่าเชยไปแล้ว ตีตราประชาชนร่วมชาติที่เห็นต่าง ถ้าอยากฟังเพลงที่ทันสมัย ควรฟังประเทศกูมีหลายๆ รอบจะดีกว่า ซึ่งถึงตอนนี้ เพลงประเทศกูมียอดวิวแล้วกว่า 56 ล้านวิวแล้ว เทียบกันแล้วย่อมเห็นได้ว่าประชาชนต้องการฟังอะไร และมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ทุกคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศ" น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

ด้าน พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัวแนวทางการปฏิรูปกองทัพของพรรคอนาคตใหม่ ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปกองทัพไทยของพรรคอนาคตใหม่ ใช้แนวทางของประเทศยุโรปในการดำเนินการ มีตัวแบบจากเยอรมนี เนื่องจากเป็นหัวขบวนของสหภาพยุโรปที่เผชิญภัยคุกคามจากยุโรปตะวันออกหรือรัสเซีย แต่มีขนาดกองทัพเล็กกะทัดรัดมีกำลังประจำการประมาณเกือบ 1 แสน 8 หมื่นนาย ใช้งบประมาณอยู่ที่ 1.13% ของ GDP และมีการใช้ระบบคณะเสนาธิการร่วม ที่สามารถเห็นสภาพการรบและสั่งการลงไปในพื้นที่ได้โดยตรง ขณะที่ไทยมีกำลังประจำการและกำลังสำรองใกล้เคียงกับอิสราเอลที่มีภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา คือราว 6 แสนนาย หากประเมินจากความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน กรณีทางทะเลและทางบกเป็นความขัดแย้งระดับต่ำ ถ้ากำลังทางอากาศและจรวดหลายลำกล้องหรือขีปนาวุธเหนือกว่ามากพอแล้ว การก่อสงครามในอาเซียนกับไทยจะเป็นไปได้ยาก

พล.ท.พงศกร กล่าวต่อว่า การปฏิรูปกองทัพไทยให้เป็นกองทัพในศตวรรษที่ 21 ให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานมากขึ้นกว่าการมีชั้นยศสูงๆ จำนวนนายพลก็ลดลงเป็นสัดส่วนตามลงไปได้ในที่สุด จึงควรเป็นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยโอนเงินที่เป็นงบประจำมาเป็นยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูง แทนการมีอาวุธจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่า สงครามในยุคปัจจุบัน การมีอาวุธจำนวนมากไม่จำเป็นเท่ากับการมีอาวุธคุณภาพสูง การจัดหาอาวุธต้องมั่นใจว่า มีขีดความสามารถสูงกว่าอย่างน้อยในอาเซียน ได้แก่การมีระยะปฏิบัติการหรือระยะยิงไกลกว่า แม่นยำกว่า รวดเร็วกว่า และมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ทั้งนี้ ต้องไม่มากเกินไปจนทำให้เกิดการแข่งขันกันทางอาวุธจนทำให้เป็นภาระทางเศรษฐกิจ