“คงชีพ”ชี้ 3 ปีปรองดอง เห็นต่างอย่างเข้าใจมากขึ้น

2019-02-17 15:25:25

“คงชีพ”ชี้ 3 ปีปรองดอง เห็นต่างอย่างเข้าใจมากขึ้น

Advertisement

“พล.ท.คงชีพ”เผยครบ 3 ปี กระบวนการปรองดอง ความเป็นหนึ่งเดียวของสังคมมีพัฒนาการตามลำดับ มองการเห็นต่างด้วยความเข้าใจกันและกันมากขึ้น

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ การเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยว่า ความพยายามสร้างความสามัคคีปรองดองของสังคม มีมาอย่างต่อเนื่องในทุกรัฐบาล จากความขัดแย้งทางสังคมที่สั่งสมมากกว่า 10 ปี กระทั่งขยายตัวสู่ความแตกแยกและการใช้ความรุนแรงทางสังคมในวงกว้าง จนเกิดการบาดเจ็บและสูญเสียของพี่น้องร่วมชาติ 14 ก.พ. 2559 ความพยายามสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในรัฐบาลปัจจุบัน หลังอารมณ์ทางสังคมเริ่มสงบลง เสียงตอบรับจากทุกฝ่ายพร้อมการเข้าร่วมสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จัดให้มีขึ้นทั่วประเทศเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งต่างร่วมให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้งที่มีมายาวนาน โดยข้อคิดเห็นในระดับพื้นที่ได้สะท้อนถึงปัญหาที่แตกต่างกันและปรากฎความเหลื่อมล้ำภาพรวมที่สั่งสมอยู่เดิมในสังคม

พล.ท.คงชีพ กล่าวต่อว่า ข้อคิดเห็นระดับพื้นที่ และปัญหาที่ร่วมสะท้อนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ได้ถูกขับเคลื่อนโดยใช้กลไกส่วนราชการในพื้นที่เข้าเร่งคลี่คลายปัญหาทันที บางกลุ่มที่เป็นปัญหาส่วนรวมของสังคม ได้กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล และผลักดันออกเป็นกฎหมายหลายฉบับโดยสภานิติบัญญัติ สำหรับแก่นรากของปัญหา จำเป็นต้องร่วมผลักดันเข้าสู่การปฎิรูปผ่านยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหลายปัญหาได้รับการแก้ไขและคลี่คลาย โดยมุ่งเน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ สำหรับข้อคิดเห็นร่วมกัน ที่เสนอเป็นทางออกจากความขัดแย้ง ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับผลก ารศึกษาด้านการสร้างความสามัคคีปรองดองจากทุกรัฐบาล โดยจัดทำเป็น “สัญญาประชาคม” ที่มีแก่นสาระสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ด้วยหลักพื้นฐาน “4 เคารพ 2 รับผิดชอบ” คือ 1. การเคารพความแตกต่าง : ที่เห็นต่างได้แต่งต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน 2. การเคารพความเสมอภาค : ที่มีความเท่าเทียมกันในวิถีประชาธิปไตย 3. การเคารพสิทธิเสรีภาพ : โดยไม่ใช้สิทธิของตนก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และ 4. การเคารพกฎหมาย โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายและยอมรับผลของการละเมิด ขณะเดียวกัน ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน 1.ความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยต้องพึ่งพาตนเองและพยายามไม่เป็นปัญหาแก่สังคม 2.ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยต้องร่วมรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน

พล.ท.คงชีพ กล่าวด้วยว่า 3 ปีผ่านไป ความเป็นหนึ่งเดียวของสังคมมีพัฒนาการตามลำดับ ห้วงเวลาแห่งความสงบ เป็นโอกาสของการร่วมทบทวนบทเรียนในอดีต ต่างเรียนรู้และเปิดใจกว้างรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ ที่สะท้อนผ่านสัญญาประชาคม มองการเห็นต่างด้วยความเข้าใจกันและกันมากขึ้นในวิถีประชาธิปไตย ขณะเดียวกันต่างเห็นความจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อนประเทศชาติไปต่อ บนพื้นฐานประโยชน์ร่วมของคนส่วนใหญ่ ภายใต้กรอบกฎหมายที่สังคมกำหนด จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญร่วมกันของทุกคน ที่ต่างต้องให้โอกาสกันและกัน เพื่อการปรับเปลี่ยนและใช้ความพยายามร่วมกันนำพาสังคมผ่านแรงเสียดทานที่ยังมีอยู่ กลับเข้าสู่กรอบกฎหมายซึ่งเป็นแกนหลักของสังคมให้ได้ บนหลักพื้นฐาน “ 4 เคารพ และ 2 รับผิดชอบ” ที่ต่างเชื่อมั่นร่วมกันว่า จะเป็นกุญแจสำคัญ นำพาสังคมพัฒนาไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ต่างปรารถนา โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน