นายกฯยันรัฐบาลส่งเสริม ศก.ฐานรากให้เข้มแข็ง

2019-02-15 21:00:54

นายกฯยันรัฐบาลส่งเสริม ศก.ฐานรากให้เข้มแข็ง

Advertisement

นายกฯยันรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมายาวนาน  ตลอด 4 ปีแก้ปัญหาหมักหมม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ สนับสนุนพี่น้องประชาชนในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า หากเปรียบประเทศเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ครอบครัวนี้ ก็คงเหมือนทุกๆ ประเทศ ที่มีเศรษฐกิจและสังคม ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ หรือ 3 พี่น้อง พี่คนโตเปรียบเสมือนผู้ที่มีฐานะดี มีความเข้มแข็ง ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจขนาดใหญ่ แม้จะพึ่งพาตนเองได้ แต่ รัฐบาลหรือพ่อแม่ก็ยังคงต้องให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกอยู่ สำหรับลูกคนกลางก็คงเป็นชนชั้นกลาง มีหน้าที่การงานที่มั่นคง หากไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากป่วยไข้ เกิดอุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชีวิตก็คงจะลำบากสักระยะ กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ รัฐบาลก็ต้องระวังไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมากระทบ เพื่อให้เขาเติบโตแข็งแรงได้อย่างไม่ลำบาก สำหรับน้องคนสุดท้องคือผู้ที่มีรายได้น้อย ทั้งเกษตรกร อาชีพอิสระ รับจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ยังต้องพึ่งพาการส่งเสริมจากภาครัฐ หรือพ่อแม่อยู่มาก รวมทั้งพี่คนโตและคนกลางก็ต้องช่วยพ่อแม่ดูแลน้องคนเล็ก ให้ความช่วยเหลือเชื่อมโยงผูกพันกัน ทุกคนอยู่ในห่วงโซ่เดียวกันต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า 4 ปีที่ผ่านมาภาครัฐตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมาอย่างยาวนานของประเทศ โดยให้ความสำคัญและเร่งการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง ทางบก ทางราง ทางทะเล ทางอากาศ ทั้งด้านสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังจากหยุดนิ่งมากว่า 10 ปีเพื่อจะเพิ่มการเข้าถึงโอกาสและกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ที่เราเรียกว่าน้องคนสุดท้อง ผ่านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกินและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ใน 61 จังหวัด กว่า 47,000 ราย ใช้พื้นที่เกือบ 4 แสนไร่ การพัฒนา Smart Farmer มากกว่า 1 ล้านราย การช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหา เช่น ช่วยเหลือชาวนา 3.6 ล้านครัวเรือน วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ชาวสวนยาง 2.2 ล้านครัวเรือน วงเงินราว 3 หมื่นล้านบาท การระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว กว่า 17 ล้านตัน ซึ่งมีส่วนในการส่งผลให้ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้น การอำนวยความยุติธรรม ขจัดคำกล่าวคุกมีไว้ขังคนจน โดยได้มีการตั้งกองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ เงินค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อาทิ ค่าจ้างทนายความ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าฤชาธรรมเนียมในทุกประเภทคดี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านเครือข่ายยุติธรรมชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรม


พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า 2 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ได้รับความเป็นธรรม ราว 9,000 ราย ทั่วประเทศ เป็นเงินเกือบ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสในการเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องในกลุ่มฐานราก ได้แก่ การให้สวัสดิการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 14 ล้านราย การเปิดโครงการร้านธงฟ้าที่มีร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมถึง 60,000 ร้าน รวมถึงการใช้แอพพลิเคชั่น ถุงเงินประชารัฐ มากกว่า 40,000 ร้านค้า มาตรการสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านและซ่อมแซมบ้าน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 60,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีการไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้เกือบ 540,000 รายโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน หมู่บ้านชุมชนละ 200,000 บาทครอบคลุม 8 หมื่นหมู่บ้าน และชุมชน รวม 92,000 กว่าโครงการ การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเกือบ 8 หมื่นกองทุน เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการออมรวมทั้งการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง กินดีอยู่ดี และมีความสุข มากยิ่งขึ้น

นายกฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับด้านสุขภาพได้ยกระดับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัว เป็น 3,600 บาทต่อคนพัฒนาระบบ UCEP สายด่วน 1669 ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่ ฟรี 72 ชั่วโมง ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ 4,600 กว่าแปลง บนพื้นที่ 5.4 ล้านไร่การเพิ่มมูลค่าสินค้าของชุมชนผ่านการดำเนินโครงการสินค้า OTOP และ ส่งเสริมสินค้าGI ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้ มากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องจาก 98,000 ล้านบาท ในปีแรกของรัฐบาล เป็น 190,000 ล้านบาท ในปีที่แล้ว หรือ เพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนล้านบาท

“มาตรการทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และไม่ได้มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็ได้วางรากฐาน ในการเพิ่มศักยภาพการผลิต มูลค่าสินค้า และบริการในระยะยาว รวมถึงการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่จะเร่งผลักดัน ก็คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า ภาครัฐได้พยายามวางแผนในการสนับสนุนพี่น้องในชุมชนในทุกมิติ เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ต่อไปตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้แก้ปัญหาที่หมักหมม มานานนับสิบๆ ปี พร้อมทั้ง วางรากฐานการพัฒนา เพื่อวันข้างหน้า”นายกฯ กล่าว