อานิสงส์งานนมัสการองค์พระธาตุพนม ขาย "มันแกว"วันละแสน

2019-02-14 12:25:17

อานิสงส์งานนมัสการองค์พระธาตุพนม ขาย "มันแกว"วันละแสน

Advertisement

อานิสงส์ของงานนมัสการองค์พระธาตุพนม ส่งผลให้เกษตรกรปลูกมันแกวขายดี ทำเงินวันละแสนบาท


เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้คึกคักไปด้วยประชาชนนักท่องเที่ยวเดินทางมาแสวงบุญ ในช่วงงานนมัสการองค์พระธาตุพนมระหว่างวันที่ 12 – 20 ก.พ. ซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ของอีสานที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อสืบสานประเพณีโบราณนมัสการองค์พระธาตุพนม ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ในช่วงงานนมัสการ มีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยว ทำบุญ ตามประเพณีความเชื่อ วันละนับแสนคน ส่งผลดี ต่อภาคเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว คึกคัก เงินสะพัดปีละกว่า 100 ล้านบาท

ขณะเดียวกันอานิสงส์ของงานนมัสการองค์พระธาตุพนม ได้ส่งผลดีต่อเกษตรกรริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีอาชีพปลูกมันแกวหวานหรือมันเพา ที่ยึดถืออาชีพภูมิปัญญาชาวบ้านมาแต่อดีต และมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูแล้งหลังน้ำโขงลด เพื่อนำผลผลิตส่งขาย โดยเฉพาะในช่วงงานนมัสการองค์พระธาตุพนมจะขายดี เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจขึ้นชื่อ เป็นที่นิยมนำไปเป็นของฝากเพราะมีรสชาติหวาน กรอบอร่อยและเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่มีการเพาะปลูก ได้ผลผลิตคุณภาพ มีพื้นที่เพาะปลูกหลาย 1,000 ไร่ โดยมีปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากมีดินตะกอนน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ บางรายมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากสามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้วันละประมาณ 50,000–100,000 บาท มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อทั่วสารทิศ ส่วนมันแกวหวานสามารถรับประทานได้ทั้งแบบสด รวมถึงนำไปทำได้หลายเมนูทั้งยำ สลัด ของหวาน


นายผลมี ศักดิ์แก้ว อายุ 51 ปี เกษตรกร ชาวบ้านน้ำก้ำ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กล่าวว่า ในช่วงงานนมัสการองค์พระธาตุพนมถือเป็นเกษตรกร ชาวสวนมันแกวหวานริมโขงต่างเร่งผลผลิตส่งออกขาย เนื่องจากมีประชาชน นักท่องเที่ยว มาเที่ยวทำบุญวันละนับแสนคน ทำให้มันแกวหวานขึ้นชื่อขายดีมีราคาซื้อขายจากสวนตกประมาณ กก. 5 บาท จากนั้นจะนำไปขายประมาณ กก. 10 บาท หรือมัดละประมาณ 12 กก. มีทั้งนำไปวางขายริมถนน และมีพ่อค้ามารับซื้อไปส่งต่อขายถือเป็นอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบทอดกันมาถึงรุ่นลูกหลาน ใช้ระยะเวลาปลูกหลังน้ำโขงลด เพาะปลูกง่ายใช้เวลาประมาณ 2 -3 เดือนสามารถเก็บผลผลิตได้และมีจุดเด่น คือ กรอบ อร่อย เพราะสภาพดินริมโขงเอื้อต่อการปลูกทำให้ดินดี ส่งผลดีต่อชาวบ้านมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่าแสนบาท บางรายปลูกพื้นที่จำนวนมาก ช่วงนี้ขายได้วันละนับแสนบาท