สงครามในอนาคตอันใกล้

2019-02-13 14:25:51

สงครามในอนาคตอันใกล้

Advertisement

สถานการณ์ความมั่นคงของโลกร้อนระอุต่อเนื่อง จากความขัดแย้งแบบไร้แววปรองดองกันได้แบบจริงใจ ระหว่างมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก สหรัฐอเมริกา ที่พยายามสกัดกั้นพญามังกรจีน ไม่ให้ขึ้นมาทาบรัศมี แถมฝ่ายหลังยังมีแนวร่วม พญาหมีรัสเซียที่ฟื้นจากล้มละลาย กำลังจะกลับมาเป็นคู่ปรปักษ์ที่สมน้ำสมเนื้อกับอเมริกาอีกรอบ

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน+รัสเซีย, สหรัฐ+ญี่ปุ่น+เกาหลีใต้ กับเกาหลีเหนือ+จีน+รัสเซีย และอิสราเอลกับอิหร่าน+แนวร่วมโลกอาหรับ มีโอกาสบานปลายกลายเป็นสงครามสู้รบขนานใหญ่มากที่สุด

แต่นักวิเคราะห์ระดับเชี่ยวชาญบอกว่า มีความขัดแย้งอื่นที่มีโอกาสกลายเป็นสงครามได้จริงและเร็วกว่า




รายงานผลการศึกษาวิจัยล่าสุดขององค์กรฝ่ายบริหารสหภาพยุโรป (อียู) แสดงให้เห็นภาพความขัดแย้งรุนแรงในสังคมมนุษย์ “ในอนาคตอันใกล้” การสู้รบฆ่าฟัน เพื่อแย่งกันเข้าถึง “แหล่งน้ำ”

“สงครามน้ำ” เหมือนในฉากภาพยนตร์วันสิ้นโลก อาจเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ผลพวงของ “ภาวะโลกร้อน” หรือที่เรียกกันเป็นทางการว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และการขยายตัวของประชากรโลก



รายงานเตือนว่า สงครามแย่งชิงแหล่งน้ำต้องเกิดแน่นอนในอีกไม่นาน หากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่รีบดำเนินการ เพื่อป้องกันแต่เนิ่น ๆ

รายงานการศึกษาวิจัยโดยคณะผู้เชี่ยวชาญของ ศูนย์วิจัยร่วม หรือ เจอาร์ซี (Joint Research Centre) ของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวว่า ผลกระทบของภาวะโลกร้อน บวกกับการเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของพลเมืองโลก จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันแย่งชิง แหล่งน้ำที่จะหายากขึ้นเรื่อย ๆ

รายงานชี้ให้เห็นหลายพื้นที่ “ล่อแหลม”ทั่วโลก ที่ประเด็นการเมืองเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ มีโอกาสปะทุเป็นสงครามได้มากกว่า ซึงก็ไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่เหล่านี้ล้วนแต่กำลังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งน้ำจืด หรือแหล่งน้ำอยู่ติดเขตแดนของหลายประเทศ หรือหลายชุมชน ชนเผ่า ที่มีความขัดแย้งกันทางด้านอื่นอยู่แล้ว



ประชาชนต่างชาติเผ่าพันธุ์ใช้แหล่งน้ำจืดร่วมกัน เช่น ทะเลสาบหรือแม่น้ำ พอเกิดความขาดแคลน แหล่งน้ำแห้งขอด จากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม และประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ความพยายามเอาตัวรอดตามสัญชาติญาณของมนุษย์จะทำให้เกิดการใช้กำลังอย่างไม่ทีทางเลี่ยง

รายงานของเจอาร์ซี ระบุแหล่งน้ำ 5 แห่งของโลก ที่เสี่ยงต่อการเกิดสงครามมากที่สุด ประกอบด้วย 1. แม่น้ำไนล์ แม่น้ำสายยาวที่สุดในโลก (6,650 กม.) ไหลผ่าน 11 ประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา 2. แม่น้ำคงคา-พรหมบุตร ในอินเดีย 3. แม่น้ำสินธุ ในปากีสถาน 4. แม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส ในเอเชียตะวันตก ไหลจากภาคตะวันออกของตุรกี ผ่านซีเรีย อิรัก อิหร่าน และคูเวต ลงสู่อ่าวเปอร์เซีย 5. แม่น้ำโคโลราโด ไหลผ่าน 5 รัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาคือ โคโลราโด ยูทาห์ แอริโซนา เนวาดา และแคลิฟอร์เนีย และ 2 รัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโกคือ บาฮากาลิฟอร์เนีย และโซโนรา

อันที่จริง สงครามน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมนุษย์ จากบันทึกในฐานข้อมูลระบุว่า โลกเคยเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับน้ำขนานใหญ่มาแล้ว อย่างน้อย 551 ครั้ง

ส่วนคำถามที่ว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามน้ำในอนาคต มีมากน้อยแค่ไหน การคิดคำนวณตามหลักวิชาการสมัยใหม่บ่งชี้ว่า มีโอกาสสูงถึง 75 – 85 % ในระยะ 50 – 100 ปีข้างหน้า ส่วนขอบเขตความรุนแรงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ศักยภาพด้านอาวุธและเงินทุนของคู่ขัดแย้ง.