ตำรวจพม่ายิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูง สลายการชุมนุมประท้วงการตั้งอนุสาวรีย์พล.ต.ออง ซาน บิดาของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำประเทศคนปัจจุบัน ในเมืองลอยกอ เมืองเอกรัฐกะยา (Kayah State) เมื่อวันอังคาร
อนุสาวรีย์รูปปั้นสำริด พล.ต.ออง ซาน ขี่หลังม้า ถูกเปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ ในเมืองลอยกอ เมืองเอกรัฐกะยา ทางภาคตะวันออก ติดเขตแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย แม้จะมีการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนท้องถิ่น พล.ต.ออง ซาน ได้รับความเคารพนับถือในวงกว้าง ในกลุ่มคนเชื้อสายบามาร์ (พม่า) ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในฐานะวีรบุรุษเอกราช เป็นแกนนำต่อสู้กับอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคม
แต่ พล.ต.ออง ซาน ซึ่งถูกลอบสังหารก่อนเมียนมาได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2491 ได้รับความนิยมน้อยกว่า ในบรรดาชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมองว่าเขาเป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของชาวมาบาร์เหนือชนกลุ่มน้อยร่วมประเทศ
วันอังคาร (12 ก.พ.) เป็นวันหยุดราชการ เนื่องใน "วันสหภาพ" ของเมียนมา ประชาชนกว่า 3,000 คน เดินขบวนมุ่งหน้าสู่อาคารสภาแห่งรัฐกะยา ในเมืองลอยกอ แต่ถูกตำรวจตรึงกำลังสกัดกั้น และเกิดการปะทะกันประปราย

นายเมียว ฮเลง วิน หนึ่งในแกนนำผู้ประท้วง เผยต่อผู้สื่อข่าวเอเอฟพี ว่า ผู้ประท้วง 10 คนได้รับบาดเจ็บ หลังจากตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ นายเมียวเผยอีกว่า ชาวกะเหรี่ยงแดงในรัฐกะยาไม่ต้องการอนุสาวรีย์นายพลออง ซาน แต่ต้องการให้สร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษหลายคนของชาวรัฐกะยามากกว่า
แต่นายขุน โธมัส ผู้นำกลุ่มเยาวชนรัฐกะเหรี่ยง เผยผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กว่า กลุ่มผู้ประท้วงไม่ได้ต่อต้านอนุสาวรีย์ พล.ต. ออง ซาน โดยตรง เพียงแต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่นายพลออง ซาน เคยให้ไว้กับชนกลุ่มน้อย

พล.ต. ออง ซาน เป็นผู้ออกแบบข้อตกลงวันที่ 12 ก.พ. 2490 กับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ซึ่งรัฐบาลในกรุงย่างกุ้งจะให้สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคแก่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ แต่คำมั่นในข้อตกลงไม่เคยเป็นจริง หลังจาก พล.ต.ออง ซาน ถูกลอบสังหารในปีเดียวกัน