เผย “2 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อ่างทอง” ร่วมประกอบพิธีพลีกรรมฯ

2019-02-10 15:15:58

เผย “2 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อ่างทอง” ร่วมประกอบพิธีพลีกรรมฯ

Advertisement

อ่างทอง เตรียมกำหนดแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่จะใช้ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำสำหรับทำน้ำอภิเษกของ จ.อ่างทอง จำนวน 2 แห่ง

นายเรวัต ประสงค์ ผวจ.อ่างทอง เปิดเผยว่า อ่างทองได้กำหนดแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่จะใช้ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำสำหรับทำน้ำอภิเษกของ จ.อ่างทอง จำนวน 2 แห่ง ดังนี้

1.แหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกลางแม่น้ำตรงหน้าพระอุโบสถของวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง มีความสำคัญคือ แหล่งน้ำดังกล่าวตั้งอยู่ตรงหน้าพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวง เป็นที่ประดิษฐานสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระมหาพุทธพิมพ์ ประกอบกับ อ.ไชโยเป็นสมรภูมิในการสู้รบระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับทหารพม่า และได้รับชัยชนะ ทหารทุกคนมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันร้องออกมาว่า “ไชโย” เป็นแหล่งน้ำที่เคยใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้




1.พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2453

2.พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2468



3.พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร พ.ศ. 2493

4.พระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครองราชย์ได้นานกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2531

5.พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2542 และ80 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550



6.พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าอุโบสถของวัดไชโยวรวิหาร มีความกว้าง 145 เมตร จึงต้องตักตรงกึ่งกลางแม่น้ำอยู่ที่ 72.5 เมตร

2.แหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางแก้ว ต.บางแก้ว อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ความสำคัญคือ สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ใช้น้ำ 4 สระ คือ น้ำจากสระแก้ว สระคงคา สระยมนา และ สระเกษในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำสำคัญในประเทศ 5 สาย ประกอบด้วย 1.น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว จ.อ่างทอง 2.น้ำในแม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ จ.นครนายก 3.น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี น้ำในแม่น้ำราชบุรี 4.น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จ.สมุทรสงคราม 5.น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย จ.เพชรบุรี ทำพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และน้ำสรงมูรธาภิเษก ในพระราชพิธีเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเษก และใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ ต.บางแก้ว มาประกอบพิธีเสกน้ำเพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในการประกอบพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในปี พ.ศ. 2554

และกำหนดนำน้ำที่ตักทั้ง 2 ที่ มารวม ณ สถานที่ทำน้ำอภิเษกของ จ.อ่างทองจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ดังกล่าว ณ อุโบสถ วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชไย จ.อ่างทอง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำและเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และเพื่อเข้าร่วมในพระราชพิธีเสด็จออก มหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตักที่ ต.บางแก้ว มีความกว้าง 150 เมตร จึงต้องตักตรงกึ่งกลางแม่น้ำอยู่ที่ 75 เมตร