ต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์ และวันนอนหลับโลกในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้สำหรับคู่รักที่มีปัญหา เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรืออารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย จนมาทะเลาะกันบ่อย ๆ และอาจรุนแรงถึงขั้นเตียงหักได้
เชื่อไหมว่า อาการเหล่านี้อาจมีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนอนกรนได้
นอกจากนี้ เสียงกรน ยังอาจทำให้คู่รักของเรานอนไม่หลับไปด้วยและยังอาจต้องตื่นมาสะกิดคนข้าง ๆ บ่อย ๆ ให้หันไปนอนตะแคงเผื่อจะดีขึ้น ทำให้คุณภาพการนอนพากันไม่ดีไปเลยทั้งคู่ การกรนนั้นไม่ใช่เรื่องปกติและยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหยุดหายใจขณะหลับอีกด้วย
บางคนอาจรู้สึกได้ว่าตอนนอนต้องตื่นมาหายใจเฮือก และอาจทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้กลางวันง่วงมึน หลับในเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้อาทิ โรคซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เส้นเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศและอารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่ายจนอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้
ลองหันไปสังเกตดูกันหน่อยคะว่า คู่รักของคุณนอนกรนไหม
เพราะการกรนไม่ใช่เรื่องปกติ และสามารถรักษาได้ ก่อนจะสายเกินไปจนเตียงหัก เสียงกรนมาจากทางเดินหายใจส่วนบนแคบ หย่อนผิดปกติ เช่น ต่อมทอนซิลโต โคนลิ้นใหญ่ เป็นต้น
เมื่อลมผ่านเกิดการชนกันจนเป็นเสียงกรนขึ้น ในการประเมิน แพทย์อาจประเมินจาก ประวัติ ตรวจร่างกาย ส่องกล้อง ดูความหย่อน เจาะเลือด ตรวจการนอนหลับ เป็นต้น
ในส่วนการรักษานั้นขึ้นกับแต่ละบุคคล สาเหตุ ตำแหน่งที่ตีบแคบ และ ระดับความรุนแรง
การรักษาโดยหลักการคือเปิดทางเดินหายใจส่วนที่แคบ และรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผ่าตัดแก้จุดที่แคบหย่อน การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก การใส่อุปกรณ์ในช่องปาก เป็นต้น
สำหรับการปฏิบัติตัวเบื้องต้น อาทิ การนอนตะแคงอาจได้ผลในบางราย หากอ้วนควรลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ยานอนหลับหรือยากดประสาทส่วนกลางก่อนนอน และควรนอนให้เพียงพอ เช่นวัยทำงาน 7-9 ชั่วโมง หากปฏิบัติแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อนแล้วหรือคู่รักกรนดังจนนอนไม่หลับควรมาพบแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล