กกต.อาจไม่มีอำนาจตรวจคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ

2019-02-08 19:10:22

กกต.อาจไม่มีอำนาจตรวจคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ

Advertisement

กกต.สรุปเบื้องต้นยอดผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตกว่า 11,128 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 2,718 คน เผย 33 พรรค เสนอชื่อนายกฯ 52  รายชื่อ  15 ก.พ.ตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมด แต่ไม่ชัดมีอำนาจตรวจคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯหรือไม่

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงภาพรวมการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ข้อมูล ณ เวลา 17.00 น. ว่า รวมยอดสมัคร 5 วัน จำนวน 11,128 คน เป็นผู้สมัครจากพรรคการเมือง 80 พรรค และมีพรรคการเมืองยื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 5 วัน จาก 72 พรรคการเมือง 2,718 คน ในส่วนของการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เฉพาะวันที่ 8 ก.พ.มีพรรคการเมืองยื่นเสนอ 7 พรรค 9 รายชื่อ ยอดรวม 5 วัน 33 พรรค 52 รายชื่อ โดยในวันที่ 15 ก.พ.นี้ กกต.จะประกาศรายชื่อ แจ้งเป็นผู้มีสิทธิสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่

เมื่อถามว่า พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) สามารถนำรูปแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นป้ายหาเสียงได้เลยหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ข้อ 17 กำหนดไว้ว่า ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.คงต้องพิจารณาก่อน และถ้าจะให้ดีทุกพรรคควรรอการประกาศรับรองจาก กกต.ในวันที่ 15 ก.พ.ก่อน อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ปฏิเสธที่จะอธิบายรายละเอียดว่า ทษช.จะมีขอบเขตในการนำแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปใช้หาเสียงได้อย่างไร โดยอ้างว่าทุกพรรคทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรทำได้ ไม่ได้แค่ไหน ในช่วงของการเลือกตั้ง


ด้านนายณัฐฏ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.เขตเป็นอำนาจของ ผอ.กกต.เขต ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ กฎหมายก็เขียนชัดว่าเป็นอำนาจของ กกต. แต่สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี กกต.ยังเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า กกต.มีอำนาจพิจารณาหรือไม่ หรือมีอำนาจเพียงประกาศรายชื่อตามที่พรรคเสนอมา แต่เบื้องต้นเท่าที่อ่านกฎหมาย น่าจะมีอำนาจแค่ประกาศ แต่ทั้งนี้ทางสำนักงาน กกต.กำลังศึกษาข้อกฎหมายทั้งหมด และจะเสนอต่อที่ประชุมกกต.พิจารณาในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม หาก กกต.เห็นว่า กฎหมายให้อำนาจ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติได้ ก็จะนำคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. มาเป็นหลักในการพิจารณาร่วมกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี รวมถึงจะไปดูว่ามีคำร้องว่าขอให้กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อรายใดหรือไม่ โดยจะต้องดูเบื้องต้นก่อนว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ก่อน ซึ่งปัจจุบันที่มีการยื่นคำร้องปรากฏทางสื่อ เป็นการร้องเรื่องการนำสถาบันฯมาใช้หาเสียง ไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ทั้งนี้เมื่อ กกต.ประกาศรายชื่อของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯแล้ว ผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ต่างจากผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.