สถานการณ์ภัยหนาวติดลบ 50 องศาเซลเซียสที่สหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งภัยพิบัติจากธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก อันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน
สถานการณ์ภัยหนาวที่ยังสั่นสะท้านในเขตมิดเวสต์ และทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา หลังเกิดปรากฏการณ์ ลมวนขั้วโลก หรือ โพลาร์ วอร์เท็กซ์ หรือลมหมุนวนความเร็วสูงบริเวณขั้วโลกเหนือ ส่งผลให้ความหนาวเหน็บแผ่ซ่านปกคลุมพื้นที่ติดมหาสมุทรอาร์กติก หลายแห่งมีอุณหภูมิดิ่งต่ำถึง -37 องศาเซลเซียส ส่วนความเย็นของลมปะทะผิว ยะเยือกต่ำถึง -54 องศาเซลเซียส ประชาชนบางส่วนได้หาทางแก้เครียด ด้วยการถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย เพื่อทำชาเลนจ์ “ไข่แข็ง-สาดน้ำเดือด” ขนตาน้ำแข็ง
ย้อนกลับมาดูสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับเมืองไทย เพื่อเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันคาดคิด โดยธนาคารโลก ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือ อุณหภูมิสภาพภูมิอากาศ เพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน โดยสถิติตัวเลขดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1901-2015 หรือ พ.ศ.2444 - 2558 รวมระยะเวลา 114 ปี อันได้แก่
มกราคม อุณหภูมิ 23.2 องศาเซลเซียส
กุมภาพันธ์ อุณหภูมิ 25.2 องศาเซลเซียส
มีนาคม อุณหภูมิ 27.4 องศาเซลเซียส
เมษายน อุณหภูมิ 28.9 องศาเซลเซียส
พฤษภาคม อุณหภูมิ 28.4 องศาเซลเซียส
มิถุนายน อุณหภูมิ 27.6 องศาเซลเซียส
กรกฎาคม อุณหภูมิ 27.2 องศาเซลเซียส
สิงหาคม อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส
กันยายน อุณหภูมิ 26.8 องศาเซลเซียส
ตุลาคม อุณหภูมิ 26.2 องศาเซลเซียส
พฤศจิกายน อุณหภูมิ 24.7 องศาเซลเซียส
ธันวาคม อุณหภูมิ 22.9 องศาเซลเซียส
แต่เมื่อเราปรับกราฟ มาดูอุณหภูมิเฉลี่ย 24 ปีหลัง คือตั้งแต่ พ.ศ. 2534-2558 จะเห็นค่าความแตกต่างของอุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละเดือน ดังนี้
มกราคม อุณหภูมิ 23.8 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส
กุมภาพันธ์ อุณหภูมิ 25.7 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส
มีนาคม อุณหภูมิ 27.8 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส
เมษายน อุณหภูมิ 29.2 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.3 องศาเซลเซียส
พฤษภาคม อุณหภูมิ 28.6 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.2 องศาเซลเซียส
มิถุนายน อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.4 องศาเซลเซียส
กรกฎาคม อุณหภูมิ 27.4 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.2 องศาเซลเซียส
สิงหาคม อุณหภูมิ 27.2 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.2 องศาเซลเซียส
กันยายน อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.2 องศาเซลเซียส
ตุลาคม อุณหภูมิ 26.5 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส
พฤศจิกายน อุณหภูมิ 25.3 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส
ธันวาคม อุณหภูมิ 23.7 องศาเซลเซียส ร้อนขึ้น 0.8 องศาเซลเซียส
นี่คือสภาพอากาศของเมืองไทย ที่เราประมวลมาให้เห็นภาพ เพื่อลองนึกถึงหน้าหนาวครั้งสุดท้ายของเมืองไทยที่ผ่านมา และคงเป็นเวลาที่นานมากแล้ว สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกร้อน คือกระบวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ไม่ว่าจะมาจากภาคอุตสาหกรรม การเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง หรือป่าไม้ถูกทำลายมากขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยที่สภาพอากาศเริ่มเลวร้ายลง ผลกระทบอย่างฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เรากำลังประสบอยู่นี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความเลวร้าย ที่ธรรมชาติกำลังตอบสนองอยู่