นักวิจัยผลิตไก่จีเอ็มวางไข่ยาต้านมะเร็ง

2019-02-01 06:20:00

นักวิจัยผลิตไก่จีเอ็มวางไข่ยาต้านมะเร็ง

Advertisement

ทีมนักวิจัยอังกฤษในแคว้นสกอตแลนด์ ดัดแปลงพันธุกรรมไก่ หรือไก่จีเอ็ม ที่สามารถวางไข่ซึ่งบรรจุยารักษาโรคข้ออับเสบ และมะเร็งบางชนิด โดยยาที่ได้จากไข่ไก่จีเอ็ม จะมีต้นทุนการผลิตราคาถูกกว่าในโรงงานถึง 100 เท่า

ดร.ลิซซา เฮอร์รอน นักวิจัยของสถาบันรอสลิน เทคโนโลยี ในเมืองเอดินเบอระ สกอตแลนด์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ กล่าวว่า ไก่จีเอ็มไม่ทุกข์ทรมาน หนำซ้ำยังได้รับการเลี้ยงดูเอาอกเอาใจเป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับไก่ธรรมดาทั่วไปในฟาร์มเลี้ยง พวกมันจะใช้ชีวิตในเล้าขนาดใหญ่ ได้รับการป้อนอาหารและน้ำ และดูแลอย่างใกล้ชิดแบบรายวัน โดยช่างเทคนิคที่ผ่านการฝึกอบรมระดับสูง พวกมันใช้ชีวิตสุขสบายมาก

ดร.เฮอร์รอน เผยอีกว่า ไก่จีเอ็มมีหน้าที่แค่วางไข่ตามปกติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสุขภาพของพวกมัน ก่อนหน้านี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า แพะ กระต่าย และไก่ดัดแปลงพันธุกรรม สามารถใช้ผลิตโปรตีนรักษาโรค ในน้ำนมหรือไข่ของพวกมัน ทีมวิจัยของ ดร.เฮอร์รอน กล่าวว่า วิธีการใหม่ของพวกเธอมีประสิทธิภาพมากกว่า ให้ผลผลิตดีกว่า และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหลายกรรมวิธีก่อนหน้านี้




ดร.เฮอร์รอน กล่าวว่า โรคจำนวนมากเกิดจากร่างกายมนุษย์ไม่ผลิตสารเคมีหรือโปรตีนบางชนิดตามธรรมชาติ โรคเหล่านี้สามารถควบคุมได้ด้วยยาที่บรรจุโปรตีนส่วนขาด ยาเหล่านี้หากผลิตด้วยวิธีสังเคราะห์โดยบริษัทเวชภัณฑ์ จะมีราคาแพงมาก ทีมวิจัยของเธอสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วยการสอดยีนมนุษย์ ซึ่งตามปกติจะผลิตโปรตีนในร่างกาย เข้าไปในดีเอ็นเอของไก่ ในส่วนที่ทำหน้าที่ผลิตไข่ขาวในไข่

ไข่ 3 ฟองเพียงพอที่จะผลิตยาได้ 1 โดส และไก่จีเอ็มแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ถึง 300 ฟองต่อปี เมื่อมีจำนวนไก่จีเอ็มมาก นักวิจัยเชื่อว่าจะสามารถผลิตยาในเชิงพานิชย์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนายาจากไข่ไก่จีเอ็มสำหรับรักษามนุษย์ และการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 - 20 ปี.