อยากไปช่วยถือปืน !! เหล่าทหารอเมริกันขึ้นฝั่งสัตหีบร่วมฝึกคอบร้าโกลด์

2019-01-27 18:00:50

อยากไปช่วยถือปืน !! เหล่าทหารอเมริกันขึ้นฝั่งสัตหีบร่วมฝึกคอบร้าโกลด์

Advertisement

กดไลค์รัวๆ ไม่ต้องกลัวผัวด่า เพราะที่จะนำเสนอวันนี้หนา คือเหล่าทหารกล้าที่มีนามว่า "หน่วยคอบร้าโกลด์" ทั้งนี้ทั้งนั้น ข่าวดีๆ ผู้ชายหล่อๆ ได้ถูกแชร์เผยแพร่ต่อมาจาก ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "Tanat Pound Wattanamongkol" ซึ่งเขาผู้นี้ได้โพสต์รูปภาพฝีมือการลั่นชัตเตอร์ของตัวเอง ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก "สัตหีบ...เจ้าเอย" เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นรูปทหารสัญชาติอเมริกัน ขณะกำลังขนถ่ายยุทโธปกรณ์ลงเรือที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ และรูปภาพชายชาติทหารผิวขาวๆ เซตนี้กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลเป็นอย่างมาก เพราะส่องดูใบหน้าและรูปร่างของทหารแต่ละคน แหมๆๆ อยากจะไปช่วยขนช่วยถ่ายโอนอาวุธหนักๆ กับพวกเขาเสียเหลือเกิน ...



มาดแมน กระแทกหัวใจ! โอ๊ยยยยย ทนไม่ไหวแล้วจ้า สาวน้อยสาวใหญ่รวมถึงเหล่าเก้งกวางทั้งหลาย เมื่อทราบข่าวการมาถึงของชายชาติทหารชุดนี้ก็ตรงปรี่ออกเดินทางเพื่อต้อนรับขับสู้แทบจะในทันที แต่ก็ต้องพบกับความว่างเปล่าทั้งในกองทัพและศูนย์ฝึกสัตหีบ เพราะทหารหาญเซตนี้เขาได้รับมอบหมายงานที่ต้องจัดกำลังพลแยกย้ายไปร่วมฝึกคอบร้าโกลด์สุดโหดตามหน่วยทหารจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย  






ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กต้นตอข่าว ระบุเอาไว้ว่า



"ทหารอเมริกามาแล้ว Cobra Gold 2019 โหลดของลงจากเรือที่สัตหีบภารกิจในการโหลดของจบแล้วครับ ท่านใดที่จะมาดูไม่ต้องมาครับ เพราะส่วนมากจะกระจายกันไปฝึกตามจังหวัดต่างๆ" 



งานนี้ชาวโซเชียลที่ชอบสายทหารแถมยังตามไปถึงที่ เพราะอยากจะยลโฉมผู้ชายเท่ๆ แบบใกล้ชิดติดขอบสนามก็คงต้องน้ำตาไหลพรากเสียใจที่ไม่ได้เจอ





ซึ่งเรือลำเลียงยุทโธกรณ์มีชื่อว่า "เคป ฮัดสัน" ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 ม.ค.) ซึ่งมาพร้อมกับยุทโธปกรณ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานแบล็กฮอว์ก ยานเกราะ รถฮัมวี่ รถผลิตน้ำประปา เคลื่อนที่ รถผลิตไฟฟ้าเคลื่อนที่ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการฝึกคอบร้าโกลด์ 2019



อยากรู้จักการฝึกคอบร้าโกลด์ (อังกฤษ: Cobra Gold ตัวย่อ: CG)



คอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย เริ่มครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2525 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแบบพหุภาคีโดยมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น



วัตถุประสงค์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ คือ ปรับปรุงการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมในการฝึก นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความสงบสุขและความมั่นคงในภูมิภาค การตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการฝึกร่วม/ผสมนี้





ประวัติ คอบร้าโกลด์

หลังสงครามโลกครั้งที่สองและในยุคสงครามเย็น ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งสองประเทศได้เริ่มมีการฝึกทางทหารร่วมกันในปี พ.ศ. 2499 เป็นการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ



ต่อมาเพื่อให้การฝึกมีลักษณะบูรณาการมากขึ้น กองทัพไทยและกองทัพสหรัฐอเมริกาได้เริ่มการฝึกร่วม/ผสมภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" ในปี พ.ศ. 2525 ครั้งนั้นกองทัพเรือไทยและกองทัพอากาศไทยจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกโดยดำเนินการฝึกปฏิบัติการทางเรือ ทางอากาศ และการยกพลขึ้นบก ร่วมกับกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา กำหนดรหัสว่า "คอบร้าโกลด์ 82"



ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กองทัพบกไทยได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้งสามเหล่าทัพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นกองบัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารับผิดชอบดำเนินการฝึกคอบร้าโกลด์ 86 ในปี พ.ศ. 2529 โดยเน้นการฝึกหน่วยทหารในการปฏิบัติการรบตามแบบ ด้วยกำลังขนาดใหญ่ระดับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสม เข้าปฏิบัติการในยุทธบริเวณ และดำเนินการฝึกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน มีกำลังจากกองทัพไทยทุกเหล่าทัพเข้าร่วมฝึกหมุนเวียนไปตามกองทัพภาคและกองเรือภาค ในปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ถือได้ว่าเป็นการฝึกร่วมและผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



เมื่อสงครามเย็นยุติลง สถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย พ.ศ. 2543 การฝึกคอบร้าโกลด์จึงได้เพิ่มรูปแบบการฝึกให้มีปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่น การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่น ๆ มีการขยายขอบเขตการฝึกจากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าร่วม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้