พบภาพเขียนสีอายุ 3 พันปีที่พิษณุโลก

2019-01-25 12:15:14

พบภาพเขียนสีอายุ 3 พันปีที่พิษณุโลก

Advertisement

พบภาพเขียนสีโบราณหายากฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บนเพดาน "ถ้ำงั่ง" ความสูงมากกว่า 10 ม. ที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก คาดมีอายุประมาณ 3,000-4,000 ปี


เมื่อวันที่ 25 ม.ค.  พระอาจารย์อรัญ ชะอยู่ ประธานที่พักสงฆ์ พุทธอุทยานที่พักสงฆ์วัดเขากะไดม้า ต.ชาติตระการ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะของผู้สนใจประวัติศาสตร์ชาว จ.พิษณุโลก จำนวนหนึ่งเข้ามาสำรวจภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภายในถ้ำพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีความพิเศษแตกต่างจากภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ตามแหล่งโบราณคดีอื่นๆทั่วไป ที่มักจะขีดเขียนตามฝาผนัง แต่ที่ถ้ำนี้มนุษย์ในยุคนั้นเลือกที่จะกะเทาะเพดานหินให้เป็นรูปวงกลม แล้วนอนเขียนภายในกรอบวงกลม ซึ่งเพดานนี้มีความสูงจากพื้นมากเกือบ 10 ม. คาดว่าน่าจะเป็นภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หายาก มีอายุประมาณ 3,000-4,000 ปี และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย แต่ต้องรอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีเสียก่อน

พระอาจารย์อรัญ กล่าวอีกว่า สำหรับถ้ำแห่งนี้คือ  ถ้ำงั่ง เพราะที่นี่เคยมีคนมาขุดหาของเก่า แต่คนที่ขุดหาของเก่าหลอนว่ามีฝนตกฟ้าร้องและน้ำป่า พยายามจะว่ายน้ำหนีแต่เมื่อชาวบ้านมาพบก็เห็นว่าชาวบ้านคนนี้เกิดอาการหลอนว่ายน้ำอยู่บนดิน จนเป็นที่มาของชื่อถ้ำงั่ง ส่วนภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏบนเพดานถ้ำแห่งนี้ เบื้องต้นพบเห็นมนุษย์ตัวใหญ่และตัวเล็กแสดงออกถึงการแต่งกายและการล่าสัตว์ แต่ด้วยกาลเวลาผ่านไปนาน พื้นผิวเพดานบางส่วนได้ร่วงหล่น ทำให้ความสมบูรณ์ของภาพได้ลดลงเรื่อยๆ แต่หลักฐานที่เหลืออยู่ทำให้เชื่อได้ว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต้องการสื่อสารกับคนในอนาคตให้ได้ทราบเรื่องราวของตนเอง ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองและครอบครัว จึงต้องใช้ความพยายามขึ้นไปนอนเขียนบนเพดานที่อยู่สูงจากพื้นดินเกือบ 10 ม. ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงทำให้ไม่สามารถหาดูได้ง่ายนัก



นอกจากที่วัดเขากะไดม้า ยังมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ให้ได้รับชมแล้ว ยังมีอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจคือ ภาพคนหัวขาด ที่ถ้ำหัวขาด ซึ่งผู้ที่สนใจและผู้ที่พบเห็นก็ยังไม่สามารถตีความหมายของภาพมนุษย์ที่ไม่มีศีรษะได้ โดยระหว่างรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจ ล่าสุดพบว่าภาพเขียนทั้งหมดเหล่านี้ กำลังเผชิญปัญหาตามอายุหินที่ใกล้จะพังทลายลงมา และอาจทำให้หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์